จารุวณฺโณภิกฺขุ

จารุวณฺโณภิกฺขุ
สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2554

ความเป็นมาของมงคลสูตร

ที่มาของมงคล ๓๘ ประการ
        สังคมเรานี้มีโรคประหลาดอยู่ชนิดหนึ่ง คือ โรคฮือ สงบเป็นพัก ๆ แล้วก็กำเริบเป็นคราว ๆ   ประเดี๋ยวฮือผู้วิเศษพอมีข่าวอาจารย์ท่านโน้นท่านนี้ให้หวยเบอร์แม่น ก็แตกตื่นเป็นกระต่ายตื่นตูมฮือกันไปหา พอคนฮือไปทางไหน ก็มีผู้แสดงตัวว่าเป็นคณาจารย์ในทางนั้นมากมาย    ย้อนหลังไป   ๒๖   ศตวรรษ ประชาชนชาวชมพูทวีปก็มีโรคอย่างนี้เหมือนกันคือ   โรคฮือ    คนสมัยนั้นตื่นตัวในการค้นคว้าปัญหาเกี่ยวกับชีวิตจิตใจ เช่น คนเราเกิดมาจากไหน ตายแล้วจะไปไหน   ทำอย่างไรจึงจะมีความสุขในชีวิต   ทำอย่างไรจึงจะมีความสำเร็จในการทำงาน ฯลฯ  มีการชุมนุมกันตามสวนสาธารณะบ้าง ประตูเมืองบ้าง จัตุรัสต่างๆบ้าง   เพื่ออภิปรายในปัญหาเหล่านี้อย่างกว้างขวาง
            เมื่อมีผู้อภิปรายมากเข้า หลายคนก็หลายความคิด และต่างก็โฆษณาเผยแผ่ความคิดของตัว ใครมีคนเชื่อตามมากก็กลายเป็นอาจารย์  มีลูกศิษย์กันคนละมาก ๆ ขณะที่การชุมนุมสาธารณะกำลังเฟื่อง การอภิปรายกำลังเป็นไปอย่างครึกครื้น ปัญหาต่างๆ ได้ถูกฟาดฟันด้วยวาทะคมคายเรื่องแล้วเรื่องเล่า
 โดยไม่มีใครคาดฝัน   ได้มีผู้เสนอญัตติสำคัญเข้าสู่วงอภิปรายว่า
"อะไรคือมงคลของชีวิต"   ดูรูปปัญหาแล้ว ก็ไม่น่าจะหนักหนาอะไร  แต่เมื่อมีผู้เสนอตัวขึ้นกล่าวแก้ กลับถูกผู้อื่นกล่าววาทะหักล้างอย่างไม่เป็นท่า
        "ท่านทั้งหลาย โปรดฟังทางนี้ ข้าพเจ้าทราบดีว่าอะไรเป็นมงคล"
นักอภิปรายผู้หนึ่งนามว่า ทิฏฐมังคลิกะ เสนอตัวขึ้นในชุมนุม
            "รูปที่ตาเห็นนี้แหละเป็นมงคล ลองสังเกตดูซิ  เมื่อเราตื่นแต่เช้าตรู่ได้เห็นนกบินเป็นฝูง ๆ พระอาทิตย์ขึ้น ต้นไม้เขียว ๆ เด็กเล็ก ๆน่ารัก สิ่งที่เราเห็นนี้แหละเป็นมงคล"
 พอ  ทิฏฐมังคลิกะ  กล่าวจบลง นักอภิปรายอีกคนหนึ่งชื่อ สุตมัคลิกะ ก็กล่าวหักล้างทันทีว่า "ช้าก่อน  ท่านทั้งหลายอย่าเพิ่งเชื่อ ที่นาย ทิฏฐมังคลิกะ กล่าวนั้นเป็นไปไม่ได้ ถ้าสิ่งที่ตาเห็นเป็นมงคลแล้ว เวลาเรามองเห็นอุจจาระ ปัสสาวะ คนเป็นโรค สิ่งเหล่านี้ก็ต้องเป็นมงคลด้วยซิ  มันจะเป็นไปได้อย่างไร
 "ต้องหูซิท่าน เสียงที่หูฟังนี่แหละเป็นมงคล  ตื่นเช้าเราก็ได้ฟังเสียงนกร้องบ้าง เสียงเพลงบ้าง  เสียงแม่หนอกล้อเล่นกับลูกบ้าง เสียงพูดเพราะ ๆบ้าง เสียงลมพัดยอดไม้บ้าง ฯลฯ นี่ต้องเสียงที่หูได้ฟังจึงเป็นมงคล"
   นายสุตมังคลิกะกล่าวไม่ทันขาดคำ ก็มีนักอภิปรายอีกคนหนึ่งชื่อ  มุตมัคลิกะกล่าวแย้งทันทีว่า  "เป็นไปไม่ได้หรอก ถ้าเสียงที่หูได้ยินเป็นมงคล อย่างนั้น เวลาเราได้ยินคนด่ากัน คนขู่ตะคอก คนโกหกมดเท็จ เสียงเหล่านี้จะเป็นมงคลด้วยหรือ
             "ต้องอารมณ์ที่ใจเราทราบซิท่านจึงจะเป็นมงคล พึงสังเกตว่า ตื่นเช้าเราได้ดมกลิ่นดอกไม้หอม ๆ จับต้องสวมใส่เสื้อผ้าสะอาด ๆรับประทานอาหารอร่อย ๆ นี่ต้องอารมณ์ที่ใจเรารับรู้ รับทราบ นี่แหละจึงเป็นมงคล
    ทันควันอีกเหมือนกัน นักอภิปรายอีกคนก็แย้งทันทีว่า "เป็นไปไม่ได้ถ้าอารมณ์ที่ใจเรารับรู้เป็นมงคลแล้ว อย่างนั้นเวลาเราได้กลิ่นเหม็น ๆ จับของสกปรก คิดเรื่องชั่วร้าย อารมณ์ตอนนั้นจะเป็นมงคลไปด้วยหรือ"
         ข้อวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องมงคล ได้แผ่ขยายตัวออกไปกว้างขวางทั่วแคว้น ในบ้าน ในสภา ในสโมสร  ในหมู่คนเดินทาง ฯลฯ ปัญหาเรื่องมงคลได้ถูกนำขึ้นถกเถียงกันอยู่ทั่วไป
 ไม่เฉพาะมนุษย์ แม้พวกเทวดาได้ยินมนุษย์ถกเถียงกันก็นำเรื่องมงคลมาถกเถียงกันบ้าง   ตั้งแต่เทวดารักษามนุษย์ ภุมเทวา อากาศเทวาตลอดจนเทวดาบนสวรรค์ทั้ง ๖ จนถึงชั้นพรหมโลก ต่างก็นำเรื่องมงคลมาถกเถียงกันปัญหามงคลนี้ได้กลายเป็นมงคลโกลาหล  ร่ำลือกันกระฉ่อนไปหมด ทั่วทั้งมนุษย์โลก เทวโลก  พรหมโลก แต่ก็ไม่มีใครชี้ขาดได้ว่าอะไรเป็นมงคลของชีวิต
 แต่มีพรหมอยู่พวกหนึ่ง คือพรหมชั้นสุทธาวาส พวกนี้มนุษย์ได้ปฏิบัติธรรมถึงขั้นพระอนาคามี จึงทราบดีว่าอะไรเป็นมงคล แต่แค่ทราบไม่สามารถพูดอธิบายออกมาได้ได้แต่ป่าวประกาศให้เทวดาทั้งหลายทราบว่าอีก ๑๒ ปี    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบังเกิดขึ้นในโลกให้คอยถามปัญหามงคลนี้กับพระองค์  เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว คือหนึ่งขณะที่ประทับอยู่ ณ  เชตวันมหาวิหาร ใกล้เมืองสาวัตถี ท้าวสักกเทวราชได้นำหมู่เทวดาเข้าเฝ้าและทูลถามพระองค์ว่า  อะไรคือมงคลของชีวิต
 พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงหลักมงคล ซึ่งมีทั้งหมด ๓๘ ประการ มงคลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ยึดถือวัตถุ แต่ยึดถือการปฏิบัติฝึกฝนตนเอง
                แม้หลักมงคลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จะประกอบไปด้วยเหตุผลอย่างสมบูรณ์  ไม่มีใครสามารถหักล้างได้ แต่ก็มิได้หมายความว่าคณาจารย์ นักคิด เจ้าลัทธิทั้งหลาย  จะล้มเลิกความคิดเดิม หันมาเชื่อพระองค์ทุกคน  เพราะล้วนแต่หนาแน่นด้วยทิฏฐิกันทั้งนั้น  แม้จะรู้ตัวว่าผิด แต่ยังยืนยันวาทะของตนอยู่ และสานุศิษย์ของแต่ละสำนัก ก็ยังทำการเผยแผ่อยู่อย่างไปไม่หยุดยั้ง ประกอบกับนิสัยของคนเรา  มีความขลาดประจำสันดานอยู่แล้วชอบทำอะไรเผื่อเหนียวไว้ก่อน จึงมีผู้ยอมรับนับถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเกิดเป็นมงคล    สาย พัวพันกันมาจนถึงปัจจุบันคือ
            ๑. มงคลของนักคิด เรียกว่า มงคลมี ยึดถือเอาว่า การมีสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นมงคล ซึ่งแต่ละที่ แต่ละสมัยก็ยึดถือต่าง ๆกันไป ไม่มีอะไรแน่นอนของบางอย่างบางที่ถือเป็นมงคล บางที่อาจถือว่าเป็นอัปมงคลก็ได้
            ๒. มงคลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกว่า มงคลทำ  ยึดถือเอาการปฏิบัติฝึกฝนตนเองเป็นเกณฑ์ เป็นสัจธรรมที่ไม่เปลี่ยนแปลง ผู้ใดปฏิบัติตามแล้ว ย่อมได้ผลแน่นอนมงคลของนักคิดนั้น มีผู้เสนอขึ้นมาแล้ว  ก็มีผู้โต้แย้งลบล้างไป แล้วก็มีผู้เสนอขึ้นมาใหม่อยู่เรื่อย  ๆ จนหาข้อยุติไม่ได้
        แต่มงคลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เมื่อทรงแสดงแล้ว ก็ไม่มีใครสามารถหาเหตุผลลบล้างได้ แม้พระองค์จะทรงเปิดโอกาสให้คัดค้าน วิพากษ์วิจารณ์ ได้ตลอดเวลาดังความในบทสรรเสริญพระธรรมคุณที่ว่า "เอหิปัสสิโก

มงคลสูตรที่ 2

"ต้นโพธิ์ต้นไทร หากปลูกไว้ในกระถาง ถึงจะไม่ตาย ก็ต้องกลายเป็นไม้แคระแกร็น แต่ถ้านำไปปลูกในที่ดินดี มีบริเวณกว้างขวาง น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ก็โตวันโตคืน กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขาเต็มที่
 เช่นกัน คนเราหากตกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เลว ถึงจะมีความรู้ความสามารถก็ยากที่จะเอาดีได้ แต่ถ้าอยู่ในถิ่นที่เหมาะสมแล้ว ก็สามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าได้โดยง่าย"  
ถิ่นที่เหมาะสมหมายถึงอย่างไร ?
 ถิ่นที่เหมาะสม หมายถึง ถิ่นที่สิ่งแวดล้อมดี ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่สุขภาพกายและใจ ยิ่งกว่านั้น ยังสนับสนุนให้ผู้อยู่อาศัย สามารถประกอบกิจการงานในหน้าที่อันเป็นสัมมาอาชีพ ให้เจริญก้าวหน้าได้โดยง่าย และสร้างสมคุณงามความดีได้เต็มที่ ถิ่นที่เหมาะสม มีความหมายกว้าง ครอบคลุมถึงถิ่นที่อยู่ทุกระดับ เช่น บ้านที่เราอาศัย โรงเรียนที่เราเรียน สถานที่ที่เราทำงาน หมู่บ้านชุมชนที่เราอยู่ ตำบลที่เราตั้งหลักฐาน อำเภอ จังหวัด ประเทศ ทวีป
วิธีอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม
๑.เมื่อเรายังเป็นเด็ก หรือเมื่อยังมีความสามารถน้อย ควรแสวงหาถิ่นที่เหมาะสมอยู่อาศัยให้ได้จึงจะเจริญ เช่น เสาะหาโรงเรียนดี ๆ ที่ทำงานดี ๆ ทำเลปลูกบ้านดี ๆ จะบวชก็หาวัดดี ๆ
๒.เมื่อเป็นผู้ใหญ่ หรือ มีความรู้ความสามารถเพียงพอแล้ว ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใดก็ตาม ต้องพยายามพัฒนาถิ่นที่เราอยู่ให้เป็นถิ่นที่เหมาะสมอย่างเต็มความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่เราอยู่ สถานที่ที่เราทำงานหรือชุมชนที่เราอยู่อาศัยก็ตาม โดยยึดหลักการพัฒนาให้เป็นถิ่นที่เหมาะสมดังนี้
ลักษณะของถิ่นที่เหมาะสม
๑.อาวาสเป็นที่สบาย หมายถึง เป็นที่ที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์ดี เช่น ถ้าเป็นบ้านก็ต้องให้มีต้นไม้ร่มรื่น น้ำไฟสะดวก ถ้าเป็นโรงเรียนก็ต้องมีสุขลักษณะดี มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีเสียงอึกทึก มีบริเวณกว้างขวาง มีสนามกีฬา ถ้าเป็นที่ตั้งร้านค้า ก็ต้องเป็นบริเวณที่อยู่ในย่านชุมชน การคมนาคมสะดวก ถ้าเป็นจังหวัดหรือภาคก็ต้องเป็นบริเวณที่สภาพภูมิศาสตร์ดี เช่น ไม่ลุ่มไม่ดอนเกินไป ไม่หนาวไม่ร้อนจนเกินไป เป็นต้น
 ๒.อาหารเป็นที่สบาย หมายถึง เป็นบริเวณที่สามารถจัดหาอาหารกินได้สะดวก เช่น อาจอยู่ใกล้ตลาด บริเวณที่มีการเกษตรกรรมสามารถผลิตอาหารได้เองพอเพียง
๓.บุคคลเป็นที่สบาย หมายถึง บริเวณที่อยู่นั้นต้องไม่มีนักเลงอันธพาล ผู้ร้ายไม่ชุกชุม คนส่วนใหญ่ในละแวกนั้นเป็นคนดี มีศีลธรรม มีวินัย ใฝ่หาความก้าวหน้า
 ๔.ธรรมะเป็นที่สบาย
     -ในทางโลก หมายถึง ในถิ่นนั้นมีโรงเรียน สถานศึกษาสำหรับให้ความรู้ได้อย่างดี ตลอดจนมีหลักการปกครองที่ดีอีกด้วย
     -ในทางธรรม หมายถึง ในถิ่นนั้นมีพระภิกษุ หรือฆราวาส ผู้รู้ธรรมเป็น บัณฑิต สามารถให้การอบรมสั่งสอนศีลธรรมได้อย่างดี หรือถิ่นที่พุทธศาสนาแผ่ ไปถึง สามารถให้ทานรักษาศีล ฟังเทศน์ เจริญสมาธิภาวนาได้เป็นนิจ
ลำดับความสำคัญของปัจจัยทั้ง ๔ ประการ
องค์ประกอบของถิ่นที่เหมาะสมดังได้กล่าวมาแล้วทั้ง ๔ ประการ จัดเรียงลำดับความสำคัญได้ดังนี้
ธรรมเป็นที่สบาย  สำคัญอันดับ ๑
บุคคลเป็นที่สบาย  สำคัญอันดับ ๒
อาหารเป็นที่สบาย  สำคัญอันดับ ๓
อาวาสเป็นที่สบาย  สำคัญอันดับ ๔
 เพราะถึงแม้อาวาสจะไม่เป็นที่สบาย แต่ถ้ามีอาหารอุดมสมบูรณ์ก็ยังพออยู่ได้ หรือถ้าอาวาสและอาหารไม่เป็นที่สบาย แต่บุคคลเป็นที่สบายแล้ว ก็จะสามารถปรับปรุงอาหารและอาวาสให้เป็นที่สบาย แต่บุคคลจะเป็นที่สบายได้ก็ต้องมีธรรมเป็นที่สบายอยู่ในจิตใจเสียก่อน
 ตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นพื้นที่เป็นเกาะ มีภัยธรรมชาติจากพายุพัดภูเขาไฟระเบิดอยู่บ่อย ๆ พื้นที่ก็น้อย (อาวาสไม่เป็นที่สบาย) เดินอาหารการกินก็ไม่เพียงพอ (อาหารไม่เป็นที่สบาย) แต่เนื่องจากประชากรของเขามีประสิทธิภาพ ขยันขันแข็ง มีวินัย ใฝ่หาความก้าวหน้า (บุคคลเป็นที่สบาย) และมีหลักในการปกครองประเทศที่ดี มีความรักชาติ (ธรรมะในทางโลกเป็นที่สบาย) จึงเป็นผลให้ประเทศญี่ปุ่นพัฒนาเจริญรุ่งเรือง จนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกได้
 ส่วนประเทศไทย มีสภาพภูมิศาสตร์ที่ดีเยี่ยม ไม่มีภัยธรรมชาติที่รุนแรง (อาวาสเป็นที่สบาย) อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ (อาหารเป็นที่สบาย) แต่ที่ยังขาดอยู่ คือ คนของเรายังขาดวินัย ยังมีความมานะพากเพียรไม่เพียงพอ แม้เราชาวไทยจะมีพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือเหนี่ยวจิตใจ แต่ทว่าเรายังเห็นแก่ความสะดวกสบายส่วนตัวอยู่มาก ยังไม่นำพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประพฤติปฏิบัติมากเท่าที่ควร ทำให้ความเจริญของเรายังล้าหลังประเทศอื่นอยู่มาก
 ดังนั้น ถ้าพวกเราทั้งหลายร่วมใจกันพัฒนาตนเองให้เป็นคนดี มีระเบียบวินัย มีความขยันขันแข็ง ใฝ่หาความก้าวหน้าอยู่เสมอ นำหลักธรรมในพุทธศาสนามาประพฤติปฏิบัติ ก็เป็นที่หวังได้ว่าชาติไทยของเรา จะมีความรุ่งเรืองก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศทั้งหลายได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ข้อเตือนใจ
 ในหลาย ๆ ประเทศมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านวัตถุมาก ประชาชนได้รับความสะดวกสบายในเรื่อง เครื่องอุปโภค บริโภค หางานทำได้ง่าย เก็บเงินทองได้มาก ดูเผิน ๆ แล้วน่าไปอยู่อาศัยมาก แต่อย่าไปอยู่เลย เพราะธรรมะไม่เป็นที่สบาย โอกาสที่ผู้อยู่อาศัยจะสร้างความก้าวหน้าทางใจ โอกาสที่จะสร้างบุญบารมีมีน้อย คนอยู่ในประเทศเหล่านั้น ตื่นเช้าขึ้นมาก็นึกถึงแต่งานไม่เคยไม่นึกถึงการทำบุญทำทาน การรักษาศีล หรือการทำสมาธิภาวนาเลย หรือบางครั้งนึกถึงแต่ก็ไม่มีใครแนะนำให้ ดังนั้น ถึงมีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนที่ตายแล้ว คือตายไปแล้วจากคุณงามความดี
 ในประเทศไทยเรา แม้ความเจริญทางด้านวัตถุ อาจจะยังล้าหลังแต่ด้านธรรมะยังเจริญอยู่มาก เรายังมีโอกาสให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาได้เต็มที่ มีโอกาสให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ได้เต็มที่ มีโอกาสสร้างบุญให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปได้
วิธีทำบ้านให้น่าอยู่
๑.ดูแลบ้านให้สะอาด เป็นระเบียบ มีทางถ่ายเทอากาศได้สะดวก
๒.เลือกซื้อ เลือกทำอาหารให้ถูกหลักอนามัย แม่บ้านหัดทำอาหารให้เป็น
๓.จูงใจคนในบ้านให้มีศีลธรรม มีความเคารพซึ่งกันและกัน มีความขยันหมั่นเพียร โดยเริ่มปรับปรุงที่ตัวเราเองให้ดีก่อน แล้วจึงชักชวนผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม
๔.ชักนำกันไปวัดฟังเทศน์ ฝึกสมาธิ รักษาศีล เป็นประจำ จัดบ้านให้มีอุปกรณ์ เครื่องเสริมสร้างทางใจ เช่น มีหนังสือธรรมะ มีห้องพระ หรือหิ้งพระ กำจัดภาพและหนังสือที่ไม่เหมาะสมออกให้หมด เช่น ภาพหรือหนังสือลามก เป็นต้น
อานิสงส์การอยูในถิ่นที่เหมาะสม
๑.ทำให้ได้รับความสุขกาย สุขใจ เต็มที่
๒.ทำให้ได้รับความเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรม
๓.ทำให้มีโอกาสบำเพ็ญบุญเต็มที่ทั้งทาน ศีล ภาวนา
๔.ทำให้ได้รู้พระสัทธรรม คือ ได้ศึกษาธรรมะ
๕.ทำให้ได้การเห็นอันประเสริฐ คือ ได้เห็นพระรัตนตรัย
๖.ทำให้ได้ฟังธรรมอันประเสริฐ คือ ได้ฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๗.ทำให้ได้ลาภอันประเสริฐ คือ ได้ความศรัทธาในพระรัตนตรัย
๘.ทำให้ได้การศึกษาอันประเสริฐ คือ ได้ศึกษาศีล สมาธิ ปัญญา
๙.ทำให้ได้การบำรุงอันประเสริฐ คือ ได้บำรุงพุทธศาสนา
๑๐.ทำให้ได้การระลึกอันประเสริฐ คือ ใจระลึกผูกพันอยู่กับพระรัตนตรัย
๑๑.ทำให้ได้นิสัยไม่ประมาท โดยดูตัวอย่างจากผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
๑๒.ทำให้ได้ที่พึ่งอันสูงสุด คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
๑๓.ทำให้ได้อริยทรัพย์ คือ ทรัพย์ของพระอริยะเจ้า ได้แก่ หนทางสู่พระนิพพาน
"ผลไม้พันธุ์เลว ถึงจะใส่ปุ๋ย รดน้ำพรวนดิน บำรุงรักษาดีอย่างไรก็ตามอย่างมากก็ทำให้มีผลดกขึ้นบ้าง แต่จะทำให้มีรสโอชาขึ้นกว่าเดิมนั้นยาก ตรงกันข้าม ผลไม้พันธุ์ดี แม้รดน้ำพรวนดินเพียงพอประมาณ ก็ให้ผลมากเกินคาด รสชาติก็โอชา"
 เช่นกัน ผู้ที่ไม่ได้สร้างสมคุณความดีมาก่อน เมื่อประกอบกิจใด ๆ ถึงขยันขันแข็งสักปานไหน ผลแก่งความดีกว่าจะปรากฎเต็มที่ ก็ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักและเสียเวลามาก ส่วนผู้ที่สะสมคุณความดีมาก่อนเมื่อทำความดี ผลดีปรากฎเต็มที่ทันตาเห็น ส่งผลให้มีความเจริญก้าวหน้าเหนือกว่าบุคคลทั้งหลาย ได้อย่างน่าอัศจรรย์ 
บุญคืออะไร ?
 บุญ คือ สิ่งซึ่งเกิดขึ้นในจิตใจแล้วทำให้จิตใจใสสะอาด ปราศจากความเศร้าหมอง ขุ่นมัว ก้าวขึ้นสู่ภูมิที่ดี เกิดขึ้นจากการที่ใจได้เพื่อนคิดที่ดี คือ พระธรรม ทำให้เลือกคิดเฉพาะสิ่งที่ดี ที่ถูก ที่ควร ที่เป็นประโยชน์แล้วพูดดี ทำดี ตามที่คิดนั้น
 บุญเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมส่งผลปรุงแต่งใจของเราให้มีคุณภาพดีขึ้น คือ ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว บริสุทธิ์ผุดผ่องสว่างไสว โปร่งโล่งไม่อึดอัด อิ่มเอิบ ไม่กระสับกระส่าย ชุ่มชื่นเบาสบาย ผ่อนคลายไม่ตึงเครียด นุ่มนวลควรแก่การใช้งาน และบุญที่เกิดขึ้นนี้ยังสามารถสะสมเก็บไว้ในใจได้อีกด้วย
 ผู้ที่ฝึกสมาธิจนเข้าถึงธรรมกาย และฝึกจนชำนาญแล้ว ย่อมสามารถมองเห็นบุญได้ คนทั่วไปแม้จะมองไม่เห็น บุญแต่ก็สามารถรู้อาการของบุญ หรือผลของบุญได้ คือ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ทำให้จิตใจชุ่มชื่น เป็นสุข เปรียบได้กับ ไฟฟ้าซึ่งเรามองไม่เห็นตัวไฟฟ้าโดยตรง แต่เราสามารถสัมผัสกับอาการของไฟฟ้าได้ เช่น มองเห็นแสงสว่างจากหลอดไฟ ได้รับความเย็นจากเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
คุณสมบัติของบุญ
๑.ชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดได้
๒.นำความสุขความเจริญก้าวหน้ามาให้
๓.ติดตามตนไปทุกฝีก้าว แม้ไปเกิดข้ามภพข้ามชาติ
๔.เป็นของเฉพาะตน ใครทำใครได้ โจรลักขโมยไม่ได้
๕.เป็นที่มาของโภคทรัพย์สมบัติทั้งหลาย
๖.ให้มนุษย์สมบัติ ทิพย์สมบัติ นิพพานสมบัติ แก่เราได้
๗.เป็นปัจจัยให้บรรลุมรรคผลนิพพาน
๘.เป็นเกราะป้องกันภัยในวัฏสงสาร
ประเภทของบุญในกาลก่อน
 บุญในกาลก่อนแบ่งเป็น ๒ ชนิด ได้แก่
๑.บุญช่วงไกล คือ คุณความดีที่เราทำจากภพชาติก่อน มาจนถึงวันคลอด
๒.บุญช่วงใกล้ คือ คุณความดีที่เราในภพชาติปัจจุบัน ตั้งแต่คลอดจนถึงเมื่อวานนี้ บุญช่วงไกล การสั่งสมความดีมาแต่ภพชาติก่อน ส่งผลให้เห็นในปัจจุบันเปรียบเสมือนผลไม้ที่คัดพันธุ์มาดีแล้ว รสโอชะของมันย่อมติดมาในเมล็ด เมื่อนำเมล็ดนั้นมาปลูก ต้นของมัน ย่อมให้ผลที่รสอร่อยทันทีโดยไม่ต้องทะนุบำรุงมาก คนเราก็เช่นกัน ถ้าในอดีตชาติสะสมความดีมามากพอเกิดมาในชาตินี้ก็เป็นคนใจใส ใจสะอาดบริสุทธิ์ มาตั้งแต่เด็ก มีสติปัญญาดีมาแต่กำเนิด รูปร่าง สง่างาม ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ มีโอกาสได้สร้างความดีได้มากกว่าคนทั้งหลายถ้าไม่ประมาทหมั่นสะสมความดีในปัจจุบันเพิ่มขึ้นอีก ก็จะเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าประมาทไม่เอาใจใส่ในการทำความดีในปัจจุบัน ก็เปรียบเสมือนต้นไม้ยอดด้วย ยากที่จะเจริญเติบโตต่อไปได้
 บุญช่วงใกล้ คนที่ทำความดีตั้งแต่เล็กเรื่อยมา เช่น ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ขยันหมั่นเพียร คบคนดีเป็นมิตร ฝึกใจให้ผ่องใสมาตั้งแต่เด็ก ความคิด คำพูด การทำงาน ย่อมดีกว่าบุคคลอื่นในวัยเดียวกัน เมื่อเติบโตขึ้น ย่อมมีความเจริญก้าวหน้ามากกว่าผู้อื่น  เพราะฉะนั้นเราจึงควรสะสะสมบุญ โดยทำความดีเสียตั้งแต่วันนี้จะได้ส่งผลให้มีสติปัญญาดี มีความเฉลียวฉลาด มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตต่อไป ในอนาคต ดังเช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งได้ทรงทำความดี สร้างสมบารมีมามากนับภพนับชาติไม่ถ้วน ในภพชาติสุดท้าย ก็ทรงฝึกเจริญสมาธิภาวนาศึกษาเล่าเรียนตั้งแต่เยาว์ จึงสามารถตรัสรู้ธรรม เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เมื่อพระชนม์เพียง ๓๕ พรรษา
ผลของบุญ
 บุญเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มีผลกับตัวเรา ๔ ระดับ คือ
๑.ระดับจิตใจ เป็นบุญที่เกิดผลทันที คือ ทำความดีปุ๊บก็เกิดปั๊บไม่ต้องรอชาติหน้า เกิดขึ้นเองในใจของเราทำให้
-สุขภาพทางใจดีขึ้น คือ มีใจเยือกเย็น ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวต่อคำยกยอ หรือตำหนิติเตียน
-สมรรถภาพของใจดีขึ้น คือ เป็นใจที่สะอาด ผ่องใส ใช้คิดเรื่องราวต่าง ๆ ได้รวดเร็ว ว่องไว ลึกซึ้ง กว้างไกล รอบคอบ เป็นระเบียบ และตัดสินใจได้ฉับพลันถูกต้องไม่ลังเล
๒.ระดับบุคลิกภาพ คนที่ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้มีใจที่สงบ แช่มชื่น เบิกบาน ชุ่มเย็น นอนหลับสบาย ไม่มีความกังวลหม่นหมอง หน้าตาผิวพรรณจึงผ่องใส ใจเปี่ยมไปด้วยบุญไม่คิดโลภอยากได้ของใคร ไม่คิดสร้างความเดือนร้อนให้ใคร มีแต่คิดช่วยเหลือเขา จึงมีความมั่นใจในตัวเอง มีความองอาจสง่างามอยู่ในตัว ไปถึงไหนก็สามารถวางตัวได้พอเหมาะพอดี บุคลิกภาพย่อมดีขึ้นเป็นลำดับ
๓.ระดับวิถีชีวิต วิถีชีวิตของคนเรา เกิดจากการสรุปผลบุญและผลบาป ที่เราได้ทำมาตั้งแต่ภพชาติก่อน ๆ จนถึงภพชาติปัจจุบัน เป็นผลของบุญระดับจิตใจ และระดับบุคลิกภาพ รวมกันชักนำให้เราได้รับสิ่งที่น่าปรารถนาตอบสนองมาจากภายนอก เช่น ได้รับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข การที่เราทำดีแล้ววิถีชีวิตของเราจะดีเต็มที่หรือไม่นั้น ขึ้นกับบุญเก่า หรือบาปในอดีต ที่เราเคยทำไว้ด้วย จึงเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน ทำให้บางคนเข้าใจผิด คิดว่าทำดีแล้ว ไม่ได้ดี เพราะบางครั้งขณะที่เราตั้งใจทำความดีอยู่กลับถูกใส่ร้ายป้ายสี หรือประสบเคราะห์กรรม ทำให้หมดกำลังใจในการทำความดี แท้จริงแล้ว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในขณะนั้น ผลบาปที่เราเคยทำในอดีตกำลังส่งผลอยู่ แต่บุญที่กำลัง ทำอยู่ปัจจุบันย่อมไม่ไร้ผล เมื่อเราตั้งใจทำบุญไปโดยไม่ย่อท้อ บุญย่อมจะส่งผลให้ในเวลาที่สมควรต่อไป
๔.ระดับสังคม เมื่อเราทำความดีมาแล้วอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะไปอยู่สังคมใด บุญก็จะส่งผลให้เป็นบุคคลที่สังคมยอมรับนับถือได้เป็นผู้นำของสังคมนั้น และจะเป็นผู้ชักนำสมาชิกในสังคมให้ทำความดีตามอย่าง ทำให้เกิดความสงบร่มเย็น ความเจริญก้าวหน้าขึ้นในสังคมนั้น ๆ โดยลำดับ
ตัวอย่างผลของบุญ
ผู้ที่มีอายุยืน  เพราะในอดีตไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ผู้ที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ เพราะในอดีตไม่รังแกหรือทรมานสัตว์
ผู้ที่มีพลานามัยสมบูรณ์ เพราะในอดีตให้ทานด้วยข้าวปลาอาหารมามาก
ผู้ทีมีผิวพรรณงาม  เพราะในอดีตรักษาศีล และให้ทานด้วยเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มมามาก
ผู้ที่มีอำนาจมีคนเกรงใจ เพราะในอดีตมีมุทิตาจิต ใครทำความดีก็ อนุโมทนา ไม่อิจฉาริษยาใคร
ผู้ที่ร่ำรวยมีโภคทรัพย์มาก  เพราะในอดีตให้ทานมามาก
ผู้ที่เกิดในตระกูลสูง เพราะในอดีตบูชาบุคคลที่ควรบูชามามาก
ผู้ที่ฉลาดมีสติปัญญาดี เพราะในอดีตคบบัณฑิต ฝึกสมาธิ เจริญ ภาวนามามากและไม่ดื่มสุรายาเมา
วิธีทำบุญ
 การทำความดีทุกอย่างล้วนได้ผลออกมาเป็นบุญทั้งสิ้น แต่เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ และนำไปปฏิบัติเราสามารถแบ่งวิธีทำบุญออกได้ ๑๐ วิธีเรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ได้แก่
    ๑.ทาน  คือ การบริจาคทรัพย์สิ่งของแก่ผู้ที่ควรให้
    ๒.ศีล  คือ การสำรวมกายวาจา ให้สงบเรียบร้อย
    ๓.ภาวนา   คือ การสวดมนต์ ทำสมาธิ อ่านหนังสือธรรม ฯลฯ
    ๔.อปจายนะ คือ การมีความเคารพอ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม
    ๕.เวยาวัจจะ คือ การช่วยเหลือขวนขวายในกิจที่ชอบ
    ๖.ปัตติทานะ คือ การอุทิศส่วนบุญแก่ผู้อื่น
    ๗.ปัตตานุโมทนา คือ การอนุโมทนาบุญที่ผู้อื่นทำ
    ๘.ธัมมัสสวนะ คือ การฟังธรรม
    ๙.ธัมมเทศนา คือ การแสดงธรรม
    ๑๐.ทิฏฐุชุกัมม์ คือ การปรับปรุงความเห็นของตนให้ถูกต้อง
ทั้ง ๑๐ ประการนี้ สรุปลงได้เป็นบุญกิริยาวัตถุ ๓ คือ
    -ทาน  คือ ๑,,,  เป็นการฆ่าความตระหนี่ออกจากใจ
    -ศีล คือ ๒ เป็นการป้องกันตนไม่ให้ทำชั่ว
    -ภาวนา คือ ๓,,,,๑๐ เป็นการฝึกตัวเองให้ฉลาดแข่งบุญแข่งวาสนาใช่ว่าแข่งไม่ได้ แต่ถ้าแข่งแล้วไซร้ต้องแข่งด้วยการทำความดี
บุญวาสนาเป็นอภินิหาร ?
 บุญวาสนไม่ใช่อภินิหาร แต่สามารถอธิบายด้วยหลักเหตุผลดังตัวอย่างคนที่จิตสั่งสมแต่บาปหรือความชั่ว จะทำให้ใจมือมัว กิเลสต่าง ๆ เข้ายึดครองใจได้ง่าย ทำให้ผลร้ายต่อตนเอง เช่น เวลาโกรธจัด ความโกรธเข้ายึดครองใจทำให้หัวใจเต้นแรงผิดปกติระบบสูบฉีดเลือดผันแปรโลหิตมีการเผาไหม้มากเกิดอาการ้อนผ่าวตั้งแต่หน้าอกจรดใบหน้า ปลายประสาทสั่น ความร้อนจะทำให้ผิวหยาบกร้าน ไม่มีน้ำมีนวล อาหารไม่ย่อยท้องอืด คนโกรธง่ายจึงเป็นคนเจ้าทุกข์ หงุดหงิด พูดจาห้วนแบบมะนาวไม่มีน้ำเวลาโกรธจะขาดสติ คิดอ่าน การใดก็ผิดพลาดได้ง่าย ส่วนคนที่จิตสั่งสมแต่บุญหรือความดี จะทำให้ใจผ่องใสอยู่เป็นปกติกิเลสต่าง ๆ เข้ายึดครองใจได้ยาก เพราะมีสติคอยควบคุมใจไว้คอยสอนตนเองไม่ให้ทำความชั่วได้ สามารถตักเตือนตนเองได้ จึงมีจิตใจที่สงบเยือกเย็น สดชื่นผ่องใส ระบบการทำงานของร่างกายก็เป็นปกติ มีผิวพรรณงาม เสียงไพเราะ กิริยาน่ารัก คิดอ่านการใดก็แจ่มใส ส่งผลให้มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตได้ง่าย
ข้อเตือนใจ
 เมื่อทราบว่า การทำบุญเป็นการสั่งสมความดีไว้เพื่อตนเองแล้วจึงไม่ควรประมาทในการทำบุญ ควรทำบุญเท่าที่กำลังความสามารถจะอำนวยผู้ที่ได้สั่งสมบุญมาดีแล้วแต่เพิกเฉยในการทำบุญเพิ่ม เปรียบเสมือนชาวนาที่เก็บเกี่ยวผลิตผลแล้วแจกจ่ายขายกินหมด ไม่เหลือไว้ทำพันธุ์ต่อไปภายหน้าเลยเขาย่อมเดือดร้อนในฤดูกาลทำนาครั้งต่อไป ความดีทุกอย่างที่เราทำไว้ แม้จะไม่ให้ผลในปัจจุบันทันตาก็ไม่สูญเปล่าความดีเหล่านั้นจะรวมกันเข้าปรุงแต่งจิตใจให้ดีขึ้น สิ่งนี้แหละคือ บุญวาสนาเราจึงควรเร่งสร้างความดีเสียแต่บัดนี้ โดยหมั่นศึกษาวิชาการ ฝึกฝนตนเองทั้งทางด้านการปรับปรุงคำพูด ความขยันขันแข็ง ทำการงานให้ดีขึ้นและพยายามฝึกใจให้ผ่องใส ด้วยการหมั่นทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาอย่างสม่ำเสมอ คนเช่นนี้ จึงเป็นคนมีบุญวาสนาที่แท้จริง
หลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
 เราต้องเร่งสร้างบุญใหม่ตั้งแต่บัดนี้ จะได้เป็นบุญเก่าติดตัวไปในวันหน้า โดยยึดหลักว่า
๑.เช้าใดยังไม่ได้ให้ทาน เช้านั้นอย่าเพิ่งกินข้าว
๒.วันใดยังไม่ได้ตั้งใจรักษาศีล วันนั้นอย่าเพิ่งออกจากบ้าน
๓.คืนใดยังไม่ได้สวดมนต์ เจริญสมาธิภาวนา คืนนั้นอย่าเพิ่งเข้านอน
 เราต้องอดทน ฝึกตนให้สร้างความดีเรื่อยไป แม้จะต้องกระทบกระทั่งสิ่งใด มีอุปสรรคมากเพียงไหน ก็ปักใจมั่นไม่ย่อท้อ กัดฟันสู้ตั้งใจทำความดีเรื่อยไปน้ำหยดทีละหยด ยังสามารถเต็มตุ่มได้ฉันใด บุญที่เราหมั่นสะสมทีละน้อย ก็ย่อมสามารถเต็มบริบูรณ์ ส่งผลให้เราอย่างเต็มที่ได้ฉันนั้น
อานิสงส์การมีบุญวาสนามาก่อน
๑.ทำให้มีปัจจัยต่าง ๆ พร้อม สามารถทำความดีใหม่ได้โดยง่าย
๒.อำนวยประโยชน์ทุกอย่างดังได้กล่าวมาแล้ว
๓.เป็นต้นเหตุแห่งความสุขทุกประการ
๔.เป็นเสบียงติดตัวทั้งภพนี้ ภพหน้า
"เรือที่ฝ่าคลื่นอยู่กลางสมุทร จะแล่นถึงฝั่งได้ นายเรือจะต้องตั้งจุดหมายปลายทางไว้ถูกต้อง และรู้จักควบคุมหางเสือให้เรือวิ่งไปไม่ผิดทิศทาง ฉันใดคนเราจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ก็จะต้องตั้งตนชอบฉันนั้น" 
ตั้งตนชอบ หมายถึงอย่างไร ?
 ตั้งตนชอบ หมายถึง การตั้งเป้าหมายชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรมไว้ถูกต้องแล้วประคับประคองตน ให้ดำเนินชีวิตไปตามเป้าหมายนั้นด้วยความระมัดระวัง การตั้งตนชอบ เป็นสิ่งสำคัญมาก เป็นขั้นตอนแรกในการสร้างความสุข ความเจริญก้าวหน้าแก่ชีวิต เพราะถ้าใครตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ผิด เช่น ตั้งเป้าหมายนั้นด้วยความระมัดระวัง การตั้งตนชอบ เป็นสิ่งสำคัญมาก เป็นขั้นตอนแรกในการสร้างความสุข ความเจริญก้าวหน้าแก่ชีวิต เพราะถ้าใครตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ผิด เช่นตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นโจรที่ปล้นเก่งที่สุด หรือจะเป็นนักผลิตเฮโรอีนที่เก่งที่สุดแล้วพยายามดำเนินชีวิตไปตามนั้น คน ๆ นั้นก็ไม่มีทางที่จะมีความสุขความเจริญก้าวหน้าได้ ถึงจะไปเสาะแสวงหาความรู้ความสามารถได้มากเพียงไรก็ไม่เกิดประโยชน์อันใด เพราะความรู้ความสามารถนั้น ๆ ล้วนเป็นไปเพื่อยังความพินาศให้เกิดขึ้นแก่ตนเองและผู้อื่นทั้งสิ้น ผู้ที่รักความก้าวหน้าทั้งหลาย จึงจำเป็นต้องตั้งเป้าหมายชีวิตให้ถูกต้องก่อน จากนั้นจึงไปเสาะแสวงหาความรู้ความสามารถ พากเพียรพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมายชีวิตที่ถูกต้องนั้นให้ได้
 อะไรคือเป้าหมายชีวิต ?
เป้าหมายของคนทุกคนแบ่งได้เป็น ๓ ระดับ ได้แก่
๑.เป้าหมายชีวิตขั้นต้น คือ การตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์ในชาตินี้ เป็นการตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องตั้งตัวตั้งฐานะให้ได้ ด้วยการประกอบอาชีพที่สุจริต ไม่ผิดกฎหมายไม่ผิดศีลธรรม จะเป็นอาชีพอะไรก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละบุคคล จะเป็นนักธุรกิจ แพทย์ วิศวกร ชาวนา ชาวไร่ หรือ อื่น ๆ ได้ทั้งนั้น ขอแต่เพียงให้เป็นอาชีพสุจริตก็แล้วกัน และเมื่อตั้งเป้าหมายชีวิตไว้แล้ว ก็มุมานะฝึกฝนตนเองสร้างตัวให้บรรลุเป้าหมายชีวิตนั้นให้ได้ หนูตัวเล็ก ๆ ยังสู้อุสส่าห์ขุดรูอยู่ นกกระจิบกระจอกยังสู้อุสส่าห์สร้างรัง เราเกิดมาเป็นคนทั้งทีก็ต้องสร้างฐานะให้ให้ได้
๒.เป้าหมายชีวิตขั้นกลาง คือ การตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์ในชาติหน้า เป็นการตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ว่า นอกจากจะพยายามตั้งฐานะของตนให้ได้แล้ว ก็จะตั้งใจสร้างบุญกุศลอย่างเต็มที่ในทุก ๆ โอกาสที่อำนวยให้เพื่อสะสมเป็นทุนเป็นเสบียงในภพชาติต่อไป เพราะว่าสัตว์โลกทั้งหลายตายแล้วไม่สูญ ตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลส ก็ยังต้องเกิดใหม่อีกอยู่ร่ำไป คนบางคนคิดแต่จะหาประโยชน์เฉพาะในชาตินี้ โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ชาติหน้าเลย คิดแต่จะหาทรัพย์จะตั้งฐานะให้ได้ โดยไม่ประกอบการบุญการกุศล เราลองคิดดูว่า ชีวิตของคนประเภทนี้ จะมีคุณค่าสักเพียงไรตั้งแต่เกิดก็อาศัยพ่อแม่เลี้ยง โตขึ้นหน่อยก็เรียนหนังสือหาความรู้ ครั้นโตขึ้นอีกก็ทำงาน มีครอบครัว เลี้ยงลูก เลี้ยงหลาน ดิ้นรนหาสิ่งต่าง ๆ มาบำรุงบำเรอตน แล้วก็แก่เฒ่าตายไป ดูพวกนกกา ตั้งแต่เล็กมันก็อาศัยพ่อแม่เลี้ยงสอนบิน สอนให้รู้จักหาอาหาร โดขึ้นก็แยกรังไปมีครอบครัว หาอาหารมาเลี้ยงลูกเลี้ยงตัว หาความสุขตามประสานกกา แล้วก็แก่เฒ่าตายไปเหมือนกัน ถ้ามีชีวิตอยู่เพียงเท่านี้  ก็มีคุณค่าไม่ต่างอะไรกับนกกา  แต่นี่เราเป็นคน ซึ่งมีโครงร่างที่เหมาะแก่การใช้ทำความดีมากที่สุด ดังนั้น นอกจากความพยายามตั้งฐานะในชาตินี้ให้ได้แล้ว เราทุกคนจึงควรที่จะรู้จักสร้างคุณค่าแก่ชีวิตด้วยการตั้งใจทำความดี ประกอบการบุญการกุศลอย่างเต็มที่เผื่อไว้เป็นเสบียงในการเดินทางข้ามภพข้ามชาติ และเป็นปัจจัยในการบรรลุถึงเป้าหมายชีวิตขึ้นสูงสุด
๓.เป็นหมายชีวิตขั้นสูงสุด คือการตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ได้แก่ การตั้งใจปฏิบัติธรรมทุกรูปแบบ เพื่อปราบกิเลสให้หมดสิ้นแล้วเข้าพระนิพพาน ตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเหล่าพระอรหันต์ทั้งหลายจะได้มีแต่ความสุขอันเป็นอมตะตลอดไป ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไปอีก
 โดยธรรมชาติ ทุกชีวิตเมื่อถึงที่สุดย่อมหมดกิเลสเข้าพระนิพพานไปด้วยกันทุกคน ต่างแต่ว่าช้าหรือเร็วเท่านั้น ในช่วงที่ยังไม่หมดกิเลสนี้ก็ต้องทนรับทุกข์กันไป มากบ้างน้อยบ้าง ตามแต่กรรมที่ตนทำไว้ เราเวียนเกิดเวียนตายกันมานับภพนับชาติไม่ถ้วนแล้ว ถ้ามีใครสามารถเอากระดูกของเราทุกชาติมากองรวมกันเข้าก็จะสูงท่วมภูเขา ถ้าเอาน้ำตาของเราที่หลั่งไหลออกมาเพราะความทุกข์ ทุก ๆ ชาติมารวมกัน ก็จะมากกว่าน้ำในมหาสมุทรเสียอีกใครสามารถเข้าพระนิพพานได้ก่อนก็หมดทุกข์ก่อน ที่ยังอยู่ก็ต้องเวียนเกิดเวียนตายในทะเลทุกข์แห่งวัฏสงสารต่อไป แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดเช่นเดียวกับพวกเรา แต่พระองค์ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ถูกต้อง คือตั้งเป้าไว้ว่าจะกำจัดกิเลสในตัวให้หมดโดยเร็ว แล้วนำตนเองและผู้อื่นเข้าพระนิพพานด้วย จากนั้นก็ตั้งใจบำเพ็ญเพียรฝึกฝนตนเองอย่างเต็มที่มานับภพนับชาติไม่ถ้วน แม้มีอุปสรรคหนักหนาสาหัสเพียงไรก็ไม่ย่อท้อสละได้แม้เลือดเนื้อและชีวิตเพื่อรักษาเป้าหมายที่จะเข้าพระนิพพานไว้ไม่ให้คลอนแคลน ในที่สุดพระองค์ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถกำจัดกิเลสได้หมด เข้าพระนิพพานอันบรมสุขได้ ส่วนพวกเรามัวเที่ยวเถลไหล เกะ ๆ กะ ๆ ไม่เอาจริง ไม่ตั้งใจมุ่งมั่นในการทำความดี บ้างก็ยังไม่รู้เป้าหมายสูงสุดของชีวิตว่าคือการเข้าพระนิพพานบ้างก็รู้แล้ว แต่เกียจคร้านประพฤติย่อหย่อน ทำ ๆ หยุด ๆ จึงจ้องมาเวียนเกิดเวียนตายรับทุกข์อยู่อย่างนี้ ฉะนั้น ถ้าใครฉลาด ก็ต้องรีบแก้ไขตนเอง ตั้งเป้าหมายสูงสุดของชีวิตไว้ให้มั่นคงไม่ประมาทในการสร้างความดี หมั่นให้ทาน รักษาศีลเจริญภาวนา ชำระกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ เพื่อกำจัดกิเลสให้หมดจะได้พ้นทุกข์ เข้าพระนิพพาน ได้รับความสุขอันเป็นอมตะตามอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้าง  จงอย่างประมาท เร่งเดินตามรอยบาทพระบรมศาสดา” “ถึงจะทำประโยชน์ให้คนอื่นมากมาย ก็ไม่ควรละทิ้งจดหมาย ปลายทางของตน เมื่อรู้ว่าอะไรคือ จุดหมายปลายทางแล้วก็ควรใส่ใจขวนขวาย
 อุปสรรค
 คนบางคน เริ่มแรกก็ตั้งเป้าหมายชีวิตดีอยู่ เช่น ตั้งใจจะทำมาหากินโดยสุจริต แต่กำลังใจยังไม่เข้มแข็งพอ ครั้นทำไปทำไปเริ่มรู้สึกว่ารวยช้าไม่ทันใจ เป้าหมายชีวิตชักเขว ลงท้ายเลยไปคดโกงคนอื่นเขา ต้องติดคุกติดตะรางไป หรือบางคนตั้งใจจะให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา แต่พอถูกคนอื่นเย้าแหย่บ้าง ล้อเลียนบ้าง เจอสิ่งยั่วยุมากเข้ามากเข้าเลยเลิกปฏิบัติธรรม ปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามอำนาจของกิเลส ทำอย่างไร เราจึงจะป้องกันตัวเราไม่ให้เป็นอย่างนั้นบ้าง ทำอย่างไร จึงจะรักษาเป้าหมายชีวิตของเราไว้ให้มั่นคง
 วิธีรักษาเป้าหมายชีวิตให้มั่นคง
๑.ฝึกให้เป็นคนมีศรัทธา ได้แก่ มีเหตุผล เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ การเชื่อมี ๒ แบบ คือ
     ๑.๑ เชื่ออย่างมีเหตุผล ประกอบด้วยปัญญา เรียกว่า ศรัทธา
     ๑.๒ เชื่ออย่างไร้เหตุผล ปราศจากปัญญา เรียกว่า งมงาย
ศรัทธาขั้นพื้นฐาน ๓ ประการ คือ
-เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง เชื่อในพระปัญญาการตรัสรู้ของพระองค์
-เชื่อในกฎแห่งกรรม เช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว โดยการทำดีนั้นจะต้องทำ ให้ครบองค์ประกอบสามประการ คือต้องทำให้
ถูกดี คือ มีปัญญาสามารถทำถูกวัตถุประสงค์ของงานนั้น
ถึงดี คือ มีความพยายามที่จะทำงานนั้นให้เต็มตามความสามารถ
พอดี คือ มีสติดี ไม่ทำจนเลยเถิดไป เผื่อเหนียวมากไปจนเกิดความเสียหาย จึงจะได้ดี
  -เชื่อในผลของกรรมว่าสามารถติดตามบุคคลผู้ทำนั้นตลอดไป
๒.ฝึกให้เป็นคนมีศีล อย่างน้อยศีล ๕
๓.ฝึกให้เป็นคนมีความรู้ เป็นพหูสูต คือ หมั่นศึกษาหาความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม
๔.ฝึกให้เป็นคนมีจาคะ คือ รู้จักเสียสละ การเสียสละแบ่งเป็น
     ๔.๑ สละทรัพย์สิ่งของเป็นทาน เป็นการกำจัดความตระหนี่ออกจากใจ จึงเป็นที่รักของคนทั้งหลาย
     ๔.๒ สละอารมณ์บูดเป็นทาน คือ ละอารมณ์โกรธ พยาบาทให้เป็นอภัยทาน ทำให้ใจผ่องใสเบิกบานเป็นปกติ
๕.ฝึกสมาธิภาวนาเพื่อให้ใจผ่องใส เกิดปัญญา ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญที่สุดเพราะจะเห็นได้ว่า เหตุทำให้เป้าหมายชีวิตของเราคลอนแคลนนั้นเป็นเพราะใจของเราขาดความมั่นคง ทนต่อความยั่วยุไม่ได้ แต่การฝึกสมาธิภาวนาเป็นการฝึกใจโดยตรง ทำให้ใจเรามีพลัง มีความหนักแน่นเข้มแข็ง ในการรักษาเป้าหมายชีวิตไว้ได้โดยสมบูรณ์
 การฝึกทั้ง ๕ ประการนี้ นิยมเรียกว่า สารธรรม แปลว่า ธรรมที่เป็นแก่นถ้าผู้ใดมีคุณธรรมทั้ง ๕ ข้อนี้ ชื่อว่า เป็นคนที่มีแก่นคนอย่างแท้จริง สามารถตั้งตนชอบได้
อานิสงส์การตั้งตนชอบ
๑.เป็นผู้สามารถพึ่งตนเองได้
๒.เป็นผู้ไม่ประมาท
๓.เป็นผู้เตรียมไว้ดีแล้วก่อนตาย
๔.เป็นผู้มีความสวัสดีในทุกที่ทุกสถาน
๕.เป็นผู้บูชาพระรัตนตรัยอย่างสูงสุด
๖.เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ
๗.เป็นตัวอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลัง
๘.เป็นผู้ป้องกันภัยในอบายภูมิ
๙.เป็นผู้มีแก่นคน สามารถตักตวงประโยชน์จากชีวิตได้เต็มที่
๑๐.เป็นผู้ได้รับสมบัติทั้ง ๓ โดยง่าย คือ มนุษย์สมบัติ ทิพยสมบัติ และนิพพานสมบัติ

มงคลสูตรที่ 1

ใบไม้ที่ห่อหุ้มปลาเน่า ย่อมต้องพลอยเหม็นแปดเปื้อนไปด้วยฉันใดผู้ที่คบคนพาล ก็ย่อมต้องพลอยเสียชื่อเสียง ติดความเป็นพาลเดือนร้อนเสียหายไปด้วยฉันนั้น"
คนพาลคือใคร?
 คนพาล คือ คนที่มีใจขุ่นมัวเป็นปกติ เป็นผลให้มีความเห็นผิด ยึดถือค่านิยมผิด ๆ และมีวินิจฉัยเสีย คือ ไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่วอะไรควรอะไรไม่ควร เช่น บัณฑิตเห็นว่า"เหล้า" เป็นของจัญไรทำให้ขาดสติ นำความเสื่อมมาให้นานัปการแต่คนพาลกลับเห็นว่า "เหล้า" เป็นของประเสริฐเป็นเครื่องกระชับมิตร  หรือบัณฑิตเห็นว่า "การเล่นไพ่" เป็นอบายมุข เป็นทางแห่งความฉิบหาย แต่คนพาลกลับเห็นว่า "การเล่นไพ่"เป็นสิ่งดี  เป็นการฝึกสมองซ้อมวิชาคำนวณดังนี้เป็นต้น
 คนพาลเป็นคนเหมือนกับเรา คือมีร่างกายประกอบด้วยเลือดเนื้อเช่นเดียวกับเรา  และอาจมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเราก็ได้เช่น เป็นญาติพี่น้อง สามีภรรยา ครู  อาจารย์  ฯลฯ อาจเป็นผู้มีการศึกษาสูง อาจมีตำแหน่งหน้าที่การงานสูง อาจมีสมัครพรรคพวกมากแม้กระทั่งอาจบวชเป็นพระภิกษุ ฯลฯ  แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไร มีความสัมพันธ์กับเราหรือไม่ ขึ้นชื่อว่าพาลแล้ว ถึงแม้จะมีความรู้  มีความสามารถก็ไม่ใช้ความรู้ความสามารถในทางที่ถูกที่ควร เพราะเขาแสลงต่อความดี เหมือนคนไข้แสลงต่อน้ำเย็น
ลักษณะของคนพาล
         เนื่องจากคนพาลมีใจขุ่นมัวอยู่เสมอ ทำให้ไม่สามารถควบคุมใจให้คิดไปในทางที่ถูกต้องได้ คนพาลจึงมีลักษณะวิปริตผิดจากคนทั้งหลาย ๓ ประการคือ
 ๑. ชอบคิดชั่วต่ำเป็นปกติวิสัย ได้แก่ คิดละโมบอยากได้ในทางทุจริต คิดพยาบาทปองร้าย คิดเห็นผิดเป็นชอบ ฯลฯ
 ๒. ชอบพูดชั่วต่ำเป็นปกติวิสัย ได้แก่  พูดปด พูดคำหยาบ พูดส่อเสียดยุยง  พูดเพ้อเจ้อ ฯลฯ
 ๓. ชอบทำชั่วต่ำเป็นปกติวิสัย  ได้แก่  เกะกะเกเร ชอบล้างผลาญชีวิตคนและสัตว์ ลักทรัพย์ ฉุดคร่าอนาจาร ฯลฯ
โทษของความเป็นคนพาล
๑.มีความเห็นผิด ก่อทุกข์ให้ตนเอง
๒.เสียชื่อเสียง ถูกติฉินนินทา
๓.ไม่มีคนนับถือ ถูกเกลียดชัง
๔.หมดสิริมงคลหมดสง่าราศี
๕.ความชั่วเภทภัยทั้งหลาย จะไหลเข้ามาหาตัว
๖.ทำลายประโยชน์ของตนเองทั่วโลกนี้และโลกหน้า
๗.ทำลายวงศ์ตระกูลของตนเอง
๘.เมื่อละโลกไปแล้วมีอบายภูมิเป็นที่ไป
วิธีสังเกตคนพาล
คนพาลมักกระทำในสิ่งต่อไปนี้ คือ
    ๑.คนพาลชอบชักนำในทางที่ผิด
ชัก  คือ  ชักชวน เชิญชวน  ชี้ชวน หรือ เสนอแนะ
นำ  คือ การทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง
เช่น ชักชวนหนีโรงเรียน ชักชวนไปปล้นจี้ ชักชวนหนีตามกันไป ชักนำไปเป็นอันธพาล ฯลฯ การชักนำนี้อาจทำด้วยความหวังดีก็ได้ แต่ว่ามันผิด เช่นได้เงินมาก็ชักชวนเพื่อนไปเลี้ยงเหล้าเที่ยวกลางคืออย่างนี้ก็จัดว่าเป็นคนพาล
 ผู้ที่ยังเยาว์วัยอ่อนความคิด อ่อนสติ มักถูกชักนำได้โดยง่าย ผู้ใหญ่ในบ้านจึงควรระมัดระวังการกระทำ และคำพูดทั้งของตนเองและผู้ที่มาติดต่อคบหา เพราะเด็กมักจะจำ และทำตามอย่าง
    ๒.คนพาลชอบทำในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ เกะกะเกเรหน้าที่การงานของตนไม่พยายามจัดการให้เรียบร้อย แต่ชอบไปก้าวก่ายหน้าที่การงานของผู้อื่น เช่น จับผิดผู้ร่วมงาน เขียนบัตรสนเท่ห์ กลั่นแกล้ง  รังแก ทำความรบกวนให้เดือดร้อน ฯลฯ
    ๓.คนพาลชอบแต่สิ่งผิด ๆ ชอบถือเอาสิ่งที่ชั่วว่าเป็นดี เช่น ชอบค้าของเถื่อน ชอบหนีโรงเรียน  ชอบเถียงพ่อแม่ ฯลฯ เห็นคนทำถูกเป็นคนเซ่อเห็นคนกลัวผิดเป็นคนเซอะ  ฯลฯ
    ๔.คนพาลแม้พูดดีๆ ก็โกรธ เช่น เตือนให้ดูหนังสือตอนใกล้สอบ ก็โกรธ เตือนให้ตื่นเช้าก็โกรธ แค่มองหน้าบางครั้งก็ยังโกรธ ฯลฯ
    ๕.คนพาลไม่ยอมรับรู้ระเบียบวินัย เช่น  ไม่ชอบข้ามถนนตรงทางม้าลาย ทิ้งขยะบนพื้นถนน ไปทำงานสาย ฯลฯ
พฤติการณ์ที่เรียกว่า"คบ"  คืออย่างไร ?
คบ หมายถึง พฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ
ร่วม เช่น ร่วมกิน ร่วมนอน ร่วมก่อการ ร่วมพวก
รับ เช่น รับเป็นเพื่อน รับเป็นภรรยาหรือสามี รับไว้ทำงาน
ให้ เช่น ให้ความไว้วางใจ ให้คำชมเชย  ให้ยศให้ตำแหน่ง ให้หยิบยืมสิ่งของ
การไม่คบคนพาล คือ การไม่ยอมมีพฤติกรรมสัมพันธ์ใด ๆ ดังกล่าวข้างต้นกับคนพาล ถ้าเรายังคบคนพาลอยู่ไม่ว่าจะในระดับไหนก็ตามรีบถอนตัวเสียโดยด่วน  อย่าประมาทรีบตัดไฟเสียแต่ต้นลม มิฉะนั้นจะพลาดติดเชื้อพาลโดยไม่รู้ตัว กลายเป็นพาลตามไปด้วย
โบราณท่านให้คติเตือนไว้ว่า
"ห่างสนุขให้ห่างศอก
ห่างวอกให้ห่างวา
ห่างพาลาให้ห่างหมื่นโยชน์แสนโยชน์"
โทษของการคบคนพาล
๑.ย่อมถูกชักนำไปในทางที่ผิด
๒.ย่อมเกิดความหายนะการงานล้มเหลว
๓.ย่อมถูกมองในแง่ร้าย ไม่ได้รับความไว้วางใจจากบุคคลทั่วไป
๔.ย่อมอึดอัดใจ เพราะคนพาลแม้เราพูดดี ๆด้วยก็โกรธ
๕.หมู่คณะย่อมแตกความสามัคคี เพราะการยุยงและไม่ยอมรับรู้ระเบียบวินัย
๖.ภัยอันตรายต่างๆ ย่อมไหลเข้ามาหาตัว
๗.เมื่อละโลกแล้ว ย่อมมีอบายภูมิเป็นที่ไป
ประเภทของคนพาล
คนพาลมี ๒ ประเภท ได้แก่
๑.พาลภายนอก  คือคนพาลทั่วไป ซึ่งแม้จะร้ายกาจเพียงใด เราก็ยังมีทางหลีกเลี่ยงได้ แต่มีพาลอีกประเภทหนึ่งที่ร้ายยิ่งกว่า เพราะมักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวและไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ คือ พาลภายใน
๒.พาลภายใน คือ ตัวเราเองขณะที่คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว  เช่น หนีงานบ้าง เที่ยวเกเร ไม่ยุ่งธุระคนอื่นโดยใช่เหตุบ้าง แกล้งไปทำงานสายบ้าง  คนอื่นเตือนดี ๆ ก็โกรธบ้าง  หลีกเลี่ยงวินัยบ้าง  พูดไม่ไพเราะบ้าง ครั้งใดที่เราทำเช่นนี้ ครั้งนั้นเราเองนั่นแหละ คือตัวพาล มีเชื้อสายพาลอยู่ใน ต้องรีบแก้ไข
หลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
๑.หวั่นห้ามใจตนเองจากความชั่วแม้เพียงเล็กน้อย ก่อนที่มันจะลุกลามต่อไป เช่น การนอนตื่นสาย การละเลยต่อการสวดมนต์ทำสมาธิก่อนนอน
๒.อย่าตามนึกถึงความชั่ว ความผิดพลาดในอดีต ทั้งของตนเองและผู้อื่น ผ่านไปแล้วก็ให้แล้วกันไป ตั้งใจทำความดีใหม่ให้เต็มที่
๓.ตั้งใจให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนาอย่างสม่ำเสมอ
๔.หลีกเลี่ยงการอ่าน การฟัง การพูด เรื่องเกี่ยวกับคนพาล จะได้ไม่สะสมความคิดเกี่ยวกับพาลไว้ในใจ พยายามสะสมแต่ความคิดที่ดีงามโดยการอ่าน การฟัง การพูด แต่สิ่งที่ดีงาม เช่น อ่านหนังสือธรรมะ ฟังเทศน์ สนทนาธรรม  พูดถึงคนที่ทำคุณความดี ฯลฯ
๕.ถ้าจำเป็นต้องอยู่ใกล้คนพาลอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เช่นทำงานในที่เดียวกัน เป็นญาติพี่น้องกันในกรณีเช่นนี้เราต้องระลึกอยู่เสมอว่า  เรากำลังอยู่ใกล้สิ่งที่เป็นอันตราย เหมือนอยู่ใกล้คนเป็นโรคติดต่อ ต้องระวังตัว คือ ระวังความเป็นพาลของเขาจะมาติดเราเข้า ต้องหมั่นทำทาน รักษาศีลทำสมาธิ เพื่อให้ในผ่องใสอยู่เสมอ
 เราต้องระลึกเสมอว่า หน้าที่อันยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดในชีวิตไม่มีอะไรยิ่งไปกว่า การปราบพาลภายในตัวเราเอง
อานิสงส์การไม่คบคนพาล
๑.ทำให้ไม่ถูกชักจูงไปในทางที่ผิด
๒.ทำให้สามารถรักษาความดีเดิมไว้ได้
๓.ทำให้สามารถสร้างความดีใหม่เพิ่มขึ้นได้อีก
๔.ทำให้ไม่ถูกคนพาลทำร้าย
๕.ทำให้ไม่ถูกตำหนิ ไม่ถูกใส่ความ
๖.ทำให้ไม่ถูกมองในแง่ร้าย ได้รับความไว้วางใจจากบุคคลทั่วไป
๗.ทำให้มีความเจริญก้าวหน้า สามารถตั้งตัวได้เร็ว
๘.ทำให้มีความสุขทั้งตนเอง  ครอบครัวและประเทศชาติ
๙.เป็นการตัดกำลังไม่ให้เชื้อพาลระบาดไป  เพราะขาดคนสนับสนุน
"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ให้ผล คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง เมื่อใดบาปให้ผลคนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
"ผ้าที่ห่อหุ้มของหอม ย่อมพลอยหอมตลบอบอวลตามไปด้วยฉันใด  ผู้ที่คบบัณฑิต ก็ย่อมพลอยได้รับความรู้ ความสามารถ และความดีตามบัณฑิตไปด้วยฉันนั้น"
บัณฑิตคือใคร  ?
บัณฑิต คือคนที่มีใจผ่องใสอยู่เป็นปกติวิสัย ทำให้มีความเห็นถูกยึดถือค่านิยมที่ถูกต้อง  สามารถดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา
    -เป็นผู้รู้ดี  คือ  รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว
    -เป็นผู้รู้ถูก คือ  รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด
    -เป็นผู้รู้ชอบ คือ รู้ว่าอะไรบุญอะไรบาป
 บัณฑิต อาจเป็นใครก็ได้ เช่น  อาจเป็นผู้อ่านหนังสือไม่ออก อาจเป็นชาวไร่ชาวนา อาจเป็นผู้ทีมีการศึกษาสูง  อาจเป็นญาติของเรา  ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามจะต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจผ่องใสและดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา คือเป็นคนดีนั่นเอง
 คนทั่วไปมักเข้าใจว่า ผู้ที่เรียนหนังสือจนได้รับปริญญานั้นคือ บัณฑิต แท้จริงนั่นเป็นเพียงบัณฑิตทางโลกเท่านั้น  ยังไม่ใช่บัณฑิตที่แท้จริงเพราะผู้ที่ได้รับปริญญาแล้ว ถ้าความประพฤติไม่ดี อาจไปทำผิดติดคุกติดตะรางได้ แต่บัณฑิตที่แท้จริงย่อมเป็นผู้ตั้งใจละชั่ว ประพฤติชอบประกอบแต่ความดี  ความถูกต้อง ความสุจริตสามารถป้องกันตนให้พ้นจากคุกจากตะรางและแม้กระทั่งจากนครได้ "บัณฑิตมิใช่ผู้มีเพียงปริญญา แต่คือผู้อุดมศีล สมาธิ ปัญญา"
ลักษณะของบัณฑิต
 เนื่องจากบัณฑิตเป็นผู้มีจิตใจผ่องใส มีความเห็นถูก ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ฉลาดในการสอดส่องหาเหตุผล จึงมีลักษณะพิเศษสูงกว่าคนทั้งหลาย ๓ ประการคือ
    ๑.ชอบคิดดีเป็นปกติวิสัย ได้แก่ คิดให้ทาน คิดให้อภัยอยู่เสมอไม่ผูกพยาบาท คิดเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เช่น เห็นว่าบุญบาปมีจริง พ่อแม่มีพระคุณต่อเราจริง เป็นต้น
    ๒.ชอบพูดดีเป็นปกติวิสัย  ได้แก่พูดคำจริง พูดคำสมานไมตรี พูดคำมีประโยชน์ พูดถูกต้องตามกาลเทศะและพูดด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตา
    ๓.ชอบทำดีเป็นปกติวิสัย ได้แก่ เว้นการฆ่ากัน ไม่ลักขโมย  ไม่ประพฤติผิดในกาม พอใจเฉพาะคู่ครองของตนเท่านั้น
องค์คุณของบัณฑิต
๑.กตัญญู รู้อุปการคุณที่ท่านทำแล้วแก่ตน
๒.อัตตสุทธิ  ทำตนให้บริสุทธิ์จากบาป
๓.บริสุทธิ์ ทำผู้อื่นให้บริสุทธิ์จากบาป
๔.สังคหะ สงเคราะห์แต่ชุมชนทั้งหลาย
วิธีสังเกตบัณฑิต
บัณฑิต มักกระทำในสิ่งต่อไปนี้คือ
๑.บัณฑิตชอบชักนำในทางที่ถูก เช่น ชักนำให้เลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มสุรา เลิกเล่นการพนัน  ชักนำให้สวดมนต์ก่อนนอนให้รักษาศีล ให้ทำมาหากินในทางสุจริต  เป็นต้น
๒.บัณฑิตชอบทำแต่สิ่งที่เป็นธุระ ไม่เกะกะเกเรใคร  ๆ เร่งรีบทำการงานในหน้าที่ของตนให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ไม่ปล่อยงานให้คั่งค้างและไม่ก้าวก่ายงานในหน้าที่ของคนอื่น เว้นแต่เมื่อได้รับการขอร้องหรือเพื่ออนุเคราะห์
๓.บัณฑิตชอบทำแต่สิ่งที่ถูกที่ควร เช่น  ชอบพูดและทำตรงไปตรงมาชอบสนทนาธรรม รังเกียจการนินทาว่าร้าย ชอบบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ทั้งแต่ตนเองและต่อผู้อื่นเป็นต้น
๔.บัณฑิตเมื่อถูกว่ากล่าวตักเตือนโดยดีย่อมไม่โกรธ มีนิสัยถือเอาความถูก ความดีและความมีประโยชน์เป็นที่ตั้งไม่ถือตัวอวดดีดื้อรั้น  แต่เห็นว่าผู้ที่ตักเตือนคนคือผู้ที่ชี้ขุมทรัพย์ให้ แล้วพยายามแก้ไขปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้นตามคำแนะนำนั้น โดยไม่นึกรังเกียจว่าผู้ที่ตักเตือนจะมีอายุ ยศศักดิ์ ฐานะสูงหรือต่ำกว่าหากมีผู้อื่นเข้าใจผิดพูดก้าวร้าวไม่สมควร ก็อดทนไว้ไม่โกรธตอบแล้วพยายามหาโอกาสชี้แจงให้เขาเข้าใจภายหลัง จึงทำความอบอุ่นและเย็นใจให้แก่ทุกคน
๕.บัณฑิตย่อมรับรู้ระเบียบวินัย รักที่จะปฏิบัติตนตามระเบียบวินัยของหมู่คณะอย่างเคร่งครัด เพราะตระหนักดีว่า วินัยเป็นเครื่องยกหมู่คณะให้เจริญขึ้นได้จริงทำให้หมู่คณะสงบเรียบร้อยไม่วุ่นวายจริง ทำให้เกิดความประหยัดจริง ฯลฯจึงรังเกียจความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ความไม่สะอาดรกรุงรัง
วิธีคบบัณฑิต
๑.หมั่นไปมาหาสู่
๒.หมั่นเข้าไปนั่งใกล้
๓.มีความจริงใจ ให้ความเกรงอกเกรงใจต่อท่าน
๔.ฟังคำแนะนำ คำพูดของท่าน (ฟังธรรม)
๕.จำธรรมที่ได้ฟังนั้นไว้
๖.พิจารณาใจความของธรรมที่จะได้นั้นให้ดี
๗.พยายามปฏิบัติตามธรรมที่ได้ฟัง
ประเภทของบัณฑิต
บัณฑิตมี ๒ ประเภท ได้แก่
๑.บัณฑิตภายนอก คือบุคคลทั่วไปไม่ว่าใครก็ตามที่เป็นผู้ประพฤติดี มีคุณธรรม ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา
๒.บัณฑิตภายใน คือ ตัวเราขณะที่คิดดี พูดดี และทำดีนั่นเอง ดังนั้นการคบบัณฑิตภายในก็คือ การพยายามฝึกตนให้เป็นผู้มีจิตใจผ่องใส มีสติรำลึกถึงแต่ความคิดดี ๆ เป็นไปเพื่อความสร้างสรรค์ คำพูดดี ๆ เป็นเพื่อยกใจผู้พูดและผู้ฟังให้สูงขึ้น และการกระทำดี ๆ เป็นไปเพื่อประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น ซึ่งทำได้โดยการหมั่นทำทาน รักษาศีล และทำสมาธิอย่างสม่ำเสมอ
อานิสงส์การคบบัณฑิต
๑.ทำให้จิตใจผ่องใส สามารถทำความดีตามไปด้วย
๒.ทำให้ได้ปัญญาเพิ่มขึ้น เป็นคนหนักแน่น มีเหตุผล
๓.ทำให้มีความเห็นถูก เป็นสัมมาทิฐิ
๔.ทำให้ไม่ต้องเศร้าโศกเดือดร้อน เพราะทำผิด
๕.ทำให้เป็นที่ยกย่องสรรเสริญของคนทั่วไป
๖.ทำให้มีความสุข ปลอดภัยจากอุปสรรคภัยพาลต่าง ๆ
๗.ทำให้มีความเจริญก้าวหน้า สามารถตั้งตัวได้เร็ว
๘.ทำให้แม้ละโลกนี้ไปแล้ว ก็ไปสู่สุคติโลกสวรรค์
๙.ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย
แท้จริง บุคคลผู้มีปกติเที่ยวสมคบคนพาล ย่อมเศร้าโศกสิ้นกาลนาน เพราะการอยู่ร่วมกับคนพาล เป็นเหตุนำทุกข์มาให้ในกาลทุกเมื่อ เหมือนการอยู่ร่วมกับศัตรู ส่วนบัณฑิตมีการอยู่ร่วมเป็นสุข เหมือนสมาคมแห่งหมู่ญาติ เพราะเหตุนั้นแล นรชนพึง คบบัณฑิต ผู้มีปัญญา เป็นพหูสูต เอาการเอางาน มีศีล มีวัตร ไกลจากกิเลส และเป็นสัตบุรุษ เปรียบดังพระจันทร์คบอากาศอันเป็นทางโคจรแห่งดวงดาวฉะ
"ต้นไม้เมื่อยังเล็กเป็นต้นกล้าอยู่  จำเป็นต้องมีหลักค้ำประกันไม่ให้ล้ม รากขาด ตายเสียก่อนฉันใด
ผู้ที่หวังความเจริญก้าวหน้า ก็จำเป็นต้องบูชาบุคคลที่ควรบูชาไว้เป็นตัวอย่างการดำเนินชีวิตที่ถูก เป็นหลักใจ ป้องกันความเห็นผิดและอกุศลกรรมต่าง ๆ มิให้ย้อนกลับกำเริบขึ้นมาอีกฉันนั้น"  
การบูชาคืออะไร ?
 การบูชา คือ การยกย่อง เชิดชู เลื่อมใส ด้วยความบริสุทธิ์ใจ จริงใจไม่เสแสร้งแกล้งทำ หมายถึงกิริยาอาการสุภาพ ที่เราแสดงต่อผู้ที่ควรบูชาทั้งต่อหน้าและลับหลัง การแสดงต่อหน้า เป็นการแสดงให้ท่านทราบว่าเรามีความเคารพและตระหนักในคุณธรรมความดีที่มีอยู่ในตัวของท่านอย่างจริงใจ การแสดงลับหลัง เป็นการเตือนใจตัวเราเอง ให้ผูกใจไว้กับคุณธรรมอันสูงส่งของท่าน ก่อให้เกิดความรู้สึกอยากกระทำตาม ใจเราจะได้ยกสูงขึ้นเสมอ ๆ ไม่เลื่อมไหลไปในทางชั่วร้าย
 การบูชา เป็นอุบายอย่างหนึ่งสำหรับฝึกใจที่ยังหยาบกระด้างเพราะไม่อาจยอมรับคุณความดีของผู้อื่น ให้ละเอียดอ่อนลง ผู้ที่ยังด้อยปัญญายังไม่เข้าใจในคุณธรรมความดีของผู้ที่ควรบูชานัก แต่หากไม่เคยชินกับการบูชาแล้วในที่สุดย่อมสามารถเล็งเห็นคุณธรรมความดีที่มีอยู่ในตัวของผู้ที่เราบูชาได้อย่างแจ่มชัด จนเกิดความเลื่อมใสกลายเป็นการบูชาอย่างแท้จริงอยากทำความดีตามท่านบ้าง ผู้ใหญ่จึงควรสอนบุตรหลานให้รู้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยเป็นการปุลูกศรัทธาตั้งแต่เล็ก ๆ
 บุคคลที่ควรบูชา
คือ บุคคลที่มีคุณความดีควรค่าแก่การระลึกนึกถึง และยึดถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตาม ได้แก่ ผู้มีศีล สมาธิ ปัญญา สูงกว่าเรานั่นเอง ซึ่งประมวลสรุปได้ดังนี้
๑. พระพุทธเจ้า เป็นบัณฑิตที่ประเสริฐสุดในโลก ทรงไว้ด้วยพระปัญญาธิคุณ พระกรุณาธิคุณ พระวิสุทธิคุณ จัดเป็นบุคคลควรบูชาของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย
๒.พระสงฆ์ ผู้ประพฤติดีมีปฏิบัติชอบก่อน แล้วจึงสอนให้ผู้อื่นประพฤติดีปฏิบัติชอบ ตามอย่างบ้าง จัดเป็นบุคคลควรบูชาของพุทธศาสนิกชน
๓.พระมหากษัตริย์ผู้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม เป็นธรรมราชาจัดเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชาของประชาชน
๔.บิดามารดา และญาติผู้ใหญ่ที่มีความประพฤติดี เป็นบัณฑิตอยู่ในฐานะสูงเกินกว่าจะคบ จัดเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชา หรือปูชนียบุคคลของบุตรหลาน
๕.ครูอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ มีความประพฤติดี เป็นบัณฑิต อยู่ในฐานะที่สูงเกินกว่าศิษย์จะคบหา จัดเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชาของศิษย์
๖.ผู้บังคับบัญชาที่มีความประพฤติดี ตั้งอยู่ในธรรม จัดเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชาของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา
 ฯลฯ
 บัณฑิตที่มีเพศ ภาวะ สูงเกินกว่าที่จะคบในฐานะผู้เสมอกันได้ล้วนจัดเป็น บุคคลที่ควรแก่การบูชาทั้งสิ้น
 วัตถุที่เนื่องด้วยท่านเหล่านี้ ก็จัดเป็นวัตถุที่ควรบูชาอีกเช่นกัน เพราะเมื่อเราบูชาวัตถุเหล่านี้ ก็ทำให้ระลึกนึกถึงคุณงามความดีของบุคคลที่วัตถุนี้ความเกี่ยวข้องด้วย ตัวอย่างคือ
    ๑.วัตถุที่เนื่องด้วยพระพุทธเจ้า เช่น พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ พระบรมสารีริกธาตุ สังเวชนียสถาน
    ๒.วัตถุที่เนื่องด้วยพระสงฆ์ เช่น พระธาตุ รูปพระสงฆ์สาวก
    ๓.คำสั่งสอน รูปภาพของบิดา มารดา ของครูบาอาจารย์ ของผู้บังคบบัญชา ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งตั้งใจประพฤติธรรมเป็นบัณฑิตจัดเป็นวัตถุที่ควรบูชาทั้งสิ้น
การแสดงออกถึงความบูชา
๑.ทางกาย ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน หรือประกอบกิจใด ๆ ก็อยู่ในอาการสำรวม เมื่ออยู่ต่อหน้าท่านหรือสัญลักษณ์ตัวแทนท่าน เช่น รูปปั้นภาพถ่าย
๒.ทางวาจา สรรเสริญยกย่องคุณความดีของท่านทั้งต่อหน้าและลับหลัง เช่น การสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย การนำความดีของท่านไปสรรเสริญ ฯลฯ
๓.ทางใจ ตามระลึกนึกถึงคำสอนของท่านด้วยความเคารพและซาบซึ้ง
ประเภทของการบูชา
การบูชาในทางปฏิบัติมี ๒ ประเภท คือ
    ๑.อามิสบูชา คือ การบูชาด้วยสิ่งของ เช่นบุตรระลึกถึงคุณของบิดามารดา ศิษย์ระลึกถึงคุณของอาจารย์ จึงบูชาด้วยการนำทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ ฯลฯ ไปมอบให้ เป็นต้น การบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้ ธูปเที่ยน ก็จัดเป็นอามิสบูชาเช่นกัน
    ๒.ปฏิบัติบูชา คือ การบูชาด้วยการตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ตามคำสอน ตามแบบอย่างที่ดีของท่าน เช่น พยายามกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ด้วยการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ตามคำสอนของท่าน การปฏิบัติบูชานี้ จัดเป็นการบูชาที่สูงสุด เพราะเป็นวิธีที่จะทำให้กาย วาจา ใจ ใสสะอาดเป็นบัณฑิตตามท่านได้โดยเร็ว
ข้อเตือนใจ
 สำหรับนักเรียน นักศึกษา หรือนักปฏิบัติธรรม ถึงระลึกเสมอว่าสิ่งที่เราจะเรียนรู้นั้น ถ้าเราเทอดทูนบูชา ตั้งใจประคองรักษาอย่างดี ไม่นำไปล้อเลียน หรือพูดเล่น ผลของการศึกษาเล่าเรียนตลอดจนการปฏิบัติธรรมของเรา ย่อมจะมีความเจริญก้าวหน้าประสบผลสำเร็จได้อย่างน่าอัศจรรย์
 ตรงกันข้าม ถ้าเราไม่เคารพ ลบหลู่ครูอาจารย์ และสิ่งที่จะเรียนรู้ความเข้าใจ ความซาบซึ้งที่จะปฏิบัติตามคำสอนก็หมดไป เกิดความรู้สึกไม่อยากบูชา หรือไม่ศรัทธา ใจที่ควรจะตรึกนึกธรรมะหรือบทเรียนต่าง ๆ ก็ มืดมิด เป็นการปิดกั้นหนทางที่จะเข้าถึงปัญญา อันจะเป็นแสงสว่างส่องนำวิถีชีวิตให้ก้าวไปในทางที่ถูกที่ควร ที่ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้น
ข้อควรระวัง
 อย่าบูชาสิ่งที่ไม่ควรบูชา เพราะจะชักนำไปสู่ความงมงายหลงผิดจิตใจขุ่นมัวเป็นพาลไป ซึ่งทำได้ดังนี้
๑.ไม่บูชาคนพาล คือ ไม่ยกย่อง ไม่เชิดชู ไม่ส่งเสริม ไม่สนับสนุนคนพาล ไม่ว่าคนพาลนั้นจะมียศศักดิ์สถานภาพสูงส่งเพียงไรก็ตาม
๒.ไม่บูชาสิ่งที่เนื่องด้วยคนพาล เช่น รูปภาพ รูปปั้น ผลงาน สิ่งของ เครื่องใช้ของคนพาล
๓.ไม่บูชาสิ่งที่บูชาแล้ว ไม่ทำให้เกิดสิริมงคล ไม่ทำให้เกิดปัญญา เช่น รูปภาพดารา นักร้อง นักกีฬาที่ไม่มีคุณธรรมเพียงพอ ภาพโฆษณาเกี่ยวกับอบายมุข ฯลฯ อย่านำมาประดับบ้านเรือน
๔.ไม่บูชาสิ่งที่บูชาแล้วโง่ เช่น ต้นไม้ใหญ่ ภูเขาสูง ศาลพระภูมิ คนทรง ภูตผีปีศาจ ลูกรอก ฯลฯ
กราบ ๓ อย่าง
วิธีการบูชาพระพุทธรูปที่ใช้กันมาก คือ การกราบ ซึ่งมีหลายประเภท คือ
    ๑.ยิ่งกราบยิ่งเมื่อย คือ พวกที่เห็นคนอื่นกราบพระก็กราบตามเขาโดยไม่รู้ความหมายทำลวก ๆ เหมือนลิงไหว้เจ้า ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรเมื่อยเปล่า
    ๒.ยิ่งกราบยิ่งโง่ คือ พวกที่กราบพระแล้วขอในสิ่งที่ไม่สมควร เช่น กราบพระขอหวย หรือไม่ดูหนังสือแล้วกราบพระขอให้สอบได้
    ๓.ยิ่งกราบยิ่งฉลาด คือ พวกที่กราบพระแล้วยึดถือพระธรรม คำสั่งสอนของพระองค์เป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติตาม เช่น
     กราบครั้งที่ ๑ ระลึกถึงพระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้า ที่ทรงมีปัญญามาก สามารถพิจารณา เห็นทุกข์ และคิดค้นวิธีการดับทุกข์ได้ด้วยพระองค์เอง ทั้งนี้เป็นเพราะพระองค์ทรงศึกษาธรรมและฝึกสมาธิมามากจึงมีใจใสสว่าง จนสามารถ ตรัสรู้ปราบกิเลสในตัวได้หมด เราก็ต้องตั้งใจหมั่นฝึกสมาธิศึกษาธรรม ตามอย่างพระองค์ด้วย
     กราบครั้งที่ ๒ ระลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ทรงเทศนาสั่งสอนผู้คนทั้งหลายโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก เพราะพระองค์ทรงฝึกหัดให้ทานช่วยเหลือสัตว์โลก มานับภพนับชาติไม่ถ้วน จึงมีความเมตตากรุณาเป็นเลิศ เราก็ต้องตั้งใจหมั่นให้ทาน มีความกรุณา ช่วยเหลือผู้อื่นตามอย่างพระองค์ด้วย
     กราบครั้งที่ ๓ ระลึกถึงพระวิสุทธิคุณของพระองค์ ที่ทรงมีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ เพราะพระองค์ทรงรักษาศีลมากไม่เคยให้ร้ายแก่ใครเลยเป็นตัวอย่างใน การรักษาศีลได้อย่างดี เราก็ต้องตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์อย่างพระองค์ด้วย
อานิสงส์การบูชาบุคคลที่ควรบูชา
๑.ยังความเห็นถูกที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น
๒.ยังความเห็นถูกที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น
๓.ทำให้มีกิริยามารยาท สุภาพอ่อนโยน น่ารักน่านับถือ
๔.ทำให้จิตใจผ่องใส เพราะตรึกอยู่ในกุศลธรรมเสมอ
๕.ทำให้สติสัมปชัญญะบริบูรณ์ขึ้น เพราะมีความสำรวมระวังเป็นการป้องกันความประมาท
๖.ป้องกันความลืมตัวความหลงผิดได้ เพราะตระหนักอยู่เสอมว่าผู้ที่มีคุณธรรมสูง กว่าตนยังมีอยู่
๗.ทำให้เกิดกำลังใจและอานุภาพอย่างมหาศาล สามารถคุ้มครองป้องกันตนให้พ้นจากอุปสรรคและภัยพาลต่าง ๆ ได้
๘.เป็นการกำจัดคนพาลให้พินาศไปโดยทางอ้อมเพราะมีแต่คนบูชาบัณฑิตผู้มีคุณธรรม
๙.เป็นการเชิดชูบัณฑิตให้สูงเด่น ทำให้ท่านสามารถบำเพ็ญกรณียกิจได้สะดวกกว้างขวางยิ่งขึ้น  

คติธรรม คำคม

“คติธรรม คำคม”
ถ้าหมั่นเรียน  เรียนอะไรก็ต้องรู้
ถ้าหมั่นดู    ดูอะไรก็ต้องเห็น
ถ้าหมั่นทำ  ทำอะไรก็ต้องเป็น
ถ้าไม่เล่นหมั่นทำ จักจำเริญ
                        ถ้าคร้านเรียน  เรียนอะไรก็ไม่รู้
                        ถ้าคร้านดู  ดูอะไรก็ไม่เห็น
                        ถ้าคร้านทำ  ทำอะไรก็ไม่เป็น
                        ต้องลำเค็ญ เป็นขอทาน เพราะคร้าน เอย ฯ
เรื่องภายในย่อมสำคัญกว่าเรื่องภายนอกตน
คนที่รู้เพียงเปลือกนอกย่อมสู้คนที่รู้ถึงแก่นไม่ได้
อดีต คือ ความฝัน      ปัจจุบัน คือ ภาพมายา     อนาคต คือ ความไม่แน่นอน
คิดก่อนทำ     อดทนไว้     พึงอภัย
ไม่มีอะไรเป็นของเรา     แม้แต่ตัวของเราเอง
โกงคนอื่น         เหมือนจุดไฟเผาตัวเอง
เมตตาคนอื่น         เหมือนสร้างบ้านให้ตัวเอง
อย่าระแวงคนอื่น     ยิ่งกว่าระวังตัวเอง
ชีวิตไม่พอกับตัณหา     เวลาไม่พอกับความต้องการ
ที่พักครั้งสุดท้าย     คือป่าช้า
ถ้าท่านทำงานแข่งกับสังคม     ความพินาศล่มจมจะตามมา
ถ้าท่านทำงานเห็นแก่หน้า     ท่านจะพบปัญหาเรื่อยไป
ถ้าท่านทำตัวเห็นแก่ได้     ท่านอย่าหวังน้ำใจจากเพื่อนฝูง
ถ้าท่านกล้าเกินไป     ท่านจะทำอะไรไม่สำเร็จ
ถ้าท่านกล้าจนเกินงาม     ท่านจะพบกับความเดือดร้อน
ถ้าท่านขาดความพอดี     ท่านจะพบกับความทุกข์อย่างมหันต์
ถ้าท่านขาดความยั้งคิด     ชีวิตทั้งชีวิตจะหมดความหมาย
ถ้าท่านทำใจให้สงบ     ท่านจะพบกับความสุขที่เยือกเย็น
ถ้าท่านมีความพอดี     ท่านจะเป็นเศรษฐีในเรือนยาจก
ถ้าท่านมีแต่ความงก     ท่านจะเป็นยาจกในเรือนเศรษฐี
ถ้าท่านมีเมตตาจิต     ท่านจะมีญาติมิตรทั่วบ้าน
ถ้าท่านเมตตาเกินประมาณ     ท่านจะพบคนพาลทั่วเมือง
ถ้าท่านคิดถึงความหลัง     ท่านจะพบรังแห่งความเศร้า
ถ้าท่านมีความมัวเมา     ท่านจะพบความปวดร้าวภายหลัง
ถ้าท่านทำดีเพื่อเด่น     ท่านจะถูกขเม่นจากญาติมิตร
ถ้าท่านทำดีเพื่อน้ำจิต     ท่านจะมีชีวิตอยู่อย่างสบาย
ถ้าท่านหวังพึ่งแต่คนอื่น     ท่านจะต้องกลืนน้ำตาตัวเอง
ถ้าท่านรู้จักใช้เวลา     ชีวิตจะมีค่ากว่านี้
ถ้าไม่กินอยู่เท่าที่มี     จะได้เป็นเศรษฐีเงินกู้
ถ้ามั่วสุมกับบายมุข     จะพบความทุกข์ในเบื้องปลาย
ถ้าทำหูเบาตามเขาว่า     จะต้องน้ำตาตกใน
ถ้าพูดโดยไม่คิด      เท่ากับพ่นลมพิษใส่คนอื่น
ถ้าจริงจังกับโลกเกินไป     จะต้องตายเพราะความเศร้า
ถ้าต้องการความเป็นอิสระ     ให้พยายามชนะใจตัวเอง
ถ้าไม่รู้จักความทุกข์     จะพบกับความสุขได้ที่ไหน
ถ้าไม่ยอมปล่อยวาง     จะพบกับความว่างได้อย่างไร
ถ้าหาความสุขจากความมัวเมา     ท่านกำลังจับเงาในกระจก
ถ้าอยากเป็นคนงาม     อย่าวู่วามโกรธง่าย
ถ้าอยากเป็นคนสบาย     อย่าเบื่อหน่ายความเพียร
ถ้าอยากเป็นคนมั่งมี     อย่าเป็นคนดีแต่จ่าย
ถ้าอยากเป็นคนนำสมัย     อย่าทำลายวัฒนธรรม
ถ้าอยากเป็นคนมีเกียรติ     อย่าเหยียดหยามคนอื่น
ถ้าอยากเป็นคนความรู้     อย่าลบหลู่อาจารย์
ถ้าอยากหาความสำราญ     อย่าล้างผลาญสมบัติ
ถ้าอยากเป็นคนมีอำนาจ     อย่าขาดความยุติธรรม
ถ้าอยากเป็นคนดัง     อย่าหวังความสงบ
ถ้าอยากเป็นที่เคารพ     ต้องพบความจบก่อนตาย
อย่าทำตัวให้เด่น     โดยการสร้างหนี้ให้ตัวเอง
(อย่าพยายามทำใจคนอื่นให้เหมือนใจเรา      เพราะเราก็ทำใจให้เหมือนคนอื่นไม่ได้)
คติพจน์
การทำความดี มีได้ทุกโอกาส ความประมาททำให้พลาดจากความดี
ความดี ให้ความอิ่มใจในเบื้องหลังให้ความสมหวังในเบื้องหน้า
ความชั่ว ให้ความขุ่นใจในเบื้องหลังให้ความผิดหวังในเบื้องหน้า
ถ้าเมตตาเกินประมาณ จะพบคนพาลทั่วเมือง
ไม่ยินดีในสิ่งที่ตนได้ ไม่พอใจในสิ่งที่ตนมี เป็นคนอาภัพอับโชคที่สุด
ถ้ากล้าจนเกินงาม จะพบรักความเดือดร้อน
มัวเมาในสิ่งที่ตนเองได้ ในสิ่งที่ตนมี คือการสร้างเรือนจำขังตัวเอง
ถ้าทำมักง่าย จะวุ่นวายภายหลัง
ถ้าทำใจร้อน จะร้อนใจภายหลัง
เห็นโทษในสิ่งที่ตนได้ เห็นภัยในสิ่งที่ตนมี คือความเป็นอิสระในโลก
ถ้าเห็นแก่ได้ จะเสียใจภายหลัง
ถ้าเห็นแก่กิน จะถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม
ถ้าพูดพล่อย ๆ จะเสื่อมถอยความนับถือ
ถ้าสบายเมื่อหนุ่ม จะกลุ้มใจเมื่อแก่
ถ้าทำตามใจชอบ จะได้รับสิ่งที่ไม่ชอบใจ
ถ้าทำบาปแลกบุญ จะขาดทุนเรื่อยไป
ถ้าเห็นแก่ธรรม สุขเลิศล้ำตลอดกาล
คนที่ไม่รักษาเวลา คือคนฆ่าตัวเอง
อดีตคือความฝัน ปัจจุบันคือภาพมายา อนาคตคือความไม่แน่นอน
ไม่มีอะไรเป็นของเรา แม้แต่ตัวของเราเอง
โกรธคนอื่น เหมือนจุดไฟเผาตัวเอง
เมตตาคนอื่น เหมือนสร้างบ้านให้ตัวเอง
อย่าระแวงคนอื่น ยิ่งกว่าระวังตัวเอง
ชีวิตไม่พอกับตัณหา เวลาไม่พอกับความต้องการ
ที่พักครั้งสุดท้ายของชีวิต คือป่าช้า
ถ้าทำตัวแข่งกับสังคม ความล่มจมจะตามมา
ถ้าทำงานเห็นแก่หน้า จะพบกับปัญหาเรื่อยไป
ถ้าทำตัวเห็นแก่ได้ อย่าหวังน้ำใจจากเพื่อนฝูง
ถ้ากลัวเกินไป จะทำอะไรไม่สำเร็จ
ยินดีในสิ่งที่ตนได้ พอใจในสิ่งที่ตนมีเป็นคนโชคดีที่สุด
ถ้าขาดความพอดี จะเป็นหนี้ตลอดกาล
ถ้าหวังแต่ความสนุก จะพบความทุกข์มหันต์
ถ้าขาดความยั้งคิด ชีวิตจะหมดความหมาย
ถ้าทำใจให้สงบ จะพบรักความสุขเยือกเย็น
ถ้ามีความพอดี จะเป็นเศรษฐีในเรือนยาจก
ถ้ามีแต่ความงก จะเป็นยาจกในเรือนเศรษฐี
ถ้ามีเมตตาจิต จะมีญาติมิตรทั่วบ้าน
จงพอใจในชีวิตของตัวเอง โดยมิต้องไปเปรียบเทียบชีวิตของผู้อื่น
ถ้าคิดถึงแต่ความหลัง จะพบรังแห่งความเศร้า
ถ้ามีแต่ความมัวเมา จะพบความปวดร้าวภายหลัง
ถ้าทำดีเพื่อเด่น จะถูกเขม่นจากญาติมิตร
ถ้าทำความดีด้วยน้ำจิต จะมีชีวิตอยู่อย่างสบาย
ถ้าหวังพึ่งแต่คนอื่น จะต้องกลืนน้ำตาตัวเอง
อย่าทำตัวเป็นผู้รับฝ่ายเดียว จงทำตัวเป็นผู้ให้ด้วย
อย่าพยายามทำคนอื่นให้เหมือนใจเรา เพราะเราก็ทำให้เหมือนใจคนอื่นไม่ได้
ถ้ารู้จักใช้เวลา ชีวิตจะมีค่ากว่านี้
อย่าทำตัวให้เด่นกว่างาน จงพยายามทำงานให้เด่นกว่าตัว
อย่าทำบ้านให้แข็งแรงกว่าพื้นฐาน จงทำพื้นฐานให้แข็งแรงกว่าบ้าน
อย่าพยายามทำสิ่งที่ได้ให้เท่ากับใจ จงพยายามทำใจให้เท่ากับสิ่งที่ได้
ถ้าไม่กินอยู่เท่าที่มี จะได้เป็นเศรษฐีเงินกู้
ถ้ามั่วสุมกับอบายมุข จะพบความทุกข์ในเบื้องปลาย
ถ้าทำหูเบาเอาเขาว่า จะต้องน้ำตาตกใน
ถ้าพูดโดยไม่คิด เท่ากับพ่นลมพิษใส่คนอื่น
ถ้าจริงจังกับโลกเกินไป จะต้องตายเพราะความเศร้า
ถ้าต้องการความเป็นอิสระ ให้พยายามชนะตัวเอง
ถ้าไม่รู้จักความทุกข์ จะพบกับความสุขได้ที่ไหน
ถ้าไม่ยอมปล่อยวาง จะพบกับความว่างได้อย่างไร
ถ้าหาความสุขจากความมัวเมา เท่ากับจังเงาในกระจก
ถ้าอยากเป็นคนงาม อย่าวู่วามโกรธง่าย
ถ้าอยากเป็นคนสบาย อย่าเบื่อหน่ายความเพียร
ถ้าอยากเป็นคนมั่งมี อย่าเป็นคนดีแต่จ่าย
ถ้าอยากเป็นคนนำสมัย อย่าทำลายวัฒนธรรม
ถ้าอยากเป็นคนมีเกียรติ อย่าเหยียดหยามคนอื่น
ถ้าอยากมีความรู้ อย่าลบหลู่อาจารย์
ถ้าอยากหาความสำราญ อย่าล้างผลาญสมบัติ
ถ้าอยากเป็นคนมีอำนาจ อย่าขาดความยุติธรรม
ถ้าอยากเป็นคนดัง อย่าหวังความสงบ
เป็นอยู่เท่าที่มี ดีกว่าเป็นเศรษฐีเงินผ่อน
ทำการงานอยู่กับบ้าน ดีกว่าสุขสำราญในบ่อน
แสวงลาภจากการงาน ดีกว่าบนบานบวงสรวง
ไม้เท้าของคนเฒ่า ดีกว่าลูกเต้าอกตัญญู
รักกันฉันท์พี่น้อง ดีกว่าเงินทองเป็นไหน ๆ
ปิดปากไว้ไม่พูดจา ดีกว่านินทาเพื่อนบ้าน
ยอมลำบากเมื่อหนุ่ม ดีกว่าจะกลุ้มเมื่อแก่
อยู่คนเดียวอย่างสงบ ดีกว่าคบคนพาล
คอยตักเตือนตัวเอง ดีกวาเพ่งโทษคนอื่น
ทำความดีแล้วดัง ดีกว่าถูกชังเพราะทำชั่ว
ถ้ากินอยู่เกินฐานะ ชีวิตจะขรุขระเดือดร้อน
ยอมลำบากเมื่อตอนต้น ดีกว่ายากจนทีหลัง
เป็นอยู่อย่างหมดหวัง คือการขุดหลุมฝังตัวเอง
ชีวิตคือการต่อสู้ จงเป็นอยู่ด้วยความอดทน
ถ้าตกอยู่ใต้อำนาจยาเสพติด เท่ากับเผาชีวิตทั้งเป็น
ถ้ามัวเมาเอาแต่ดัง ชีวิตจะพังเพราะชื่อเสียง
ถ้าจะเป็นผู้ใหญ่ อย่าเชื่อง่ายหูเบา
อำนาจวาสนา คือที่มาของความกังวล
โลกจะลุกเป็นไฟ เพราะใจขาดธรรมะ
ชีวิตจริง ไม่เหมือนฝัน
ถ้าชนะด้วยอาวุธ จะสิ้นสุดด้วยความแค้น ใช้ธรรมะชนะแทน ความขุ่นแค้นจะหายไป
ถ้าเสรีไม่มีเขต จะเป็นเหตุให้วุ่นวาย ถ้าเสรีตามกฎหมาย ความวุ่นวายสงบลง
ถ้าผู้ใหญ่ตามใจว่า จะชักพาให้เดือดร้อน ถ้าผู้น้อยฝืนคำสอน จะเดือดร้อนไปทั่วเมือง
ถ้าทำงานมุ่งเพื่อตัว จะหมองมัวชั่วชีวิต ถ้าทำงานเพื่ออุทิศ สิ้นชีวิตชื่อยังอยู่
เป็นพระไม่สังวร จะถ่ายถอนความศรัทธา เป็นชาวบ้านไม่เสาะหา จะนำพาให้ล่มจม
ประชาธิปไตยตามใจว่า คือที่มาแห่งความวุ่นวาย
สังคมจะเป็นธรรม เพราะไม่เหยียบย่ำคนอื่น
คนไม่เคารพกฎหมาย เหมือนวัวควายไม่มีคอก
ดูบ้านเมืองดูที่ความสะอาด ดูประชาชาติดูที่ความสามัคคี
ดูคนดี ดูที่งาน ดูลูกหลาน ดูที่ความเคารพ
ดูหญิง ดูที่ความอาย ดูชาย ดูที่ความกล้าหาญ
ดูพระดูที่กิจวัตร ดูคฤหัสถ์ ดูที่ความขยัน
เพ่งโทษตนเป็นบัณฑิต เพ่งความผิดคนอื่นเป็นพาล
เสียเงินทองไม่เป็นปัญหา เท่ากับเสียเวลาและเสียใจ
ถ้าใช้กฎหมู่ จะอยู่อย่างรำคาญ ใช้อำนาจทางศาล จะสำราญทั่วเมือง
เห็นผู้ใหญ่ว่าโง่ เห็นนักเลงโตว่าฉลาด เห็นพ่อแม่ไม่สามารถ คืออุบาทว์บ้านเมือง
เห็นคุกเป็นบ้าน สุราบานเป็นเพื่อน บ้านเรือนเป็นศาลา คือที่มาของความวิบัติ
ส่งเสริมการพนัน แข่งขันความมั่งมี ไม่เชื่อคนแต่เชื่อผี จะมั่งมีได้อย่างไร
ความสุขโลกีย์ มีได้ชั่วคราว ความสุขยืนยาว ต้องเข้าหาธรรม
ปฏิรูปจะได้ผล ประชาชนต้องร่วมใจ
ถ้าจะทำงานเพื่อชาติ อย่าแสวงหาอำนาจเพื่อตัว
ถ้าจะทำงานเพื่อศาสนา อย่าแสวงหาอามิส
อยากให้ไทยคงเป็นไทย อย่าทำลายวัฒนธรรม
ความวิบัติของชาติ คือผู้มีอำนาจแตกสามัคคี
สังคมมากกว่าส่วนตัว ชีวิตครอบครัวจะเดือดร้อน
เป็นทุกข์เพราะความจน ดีกว่าทนทุกข์เพราะเป็นหนี้
ประดับกายด้วยความดี มีราศีกว่าประดับเพชร
ฆ่าสัตว์ได้โทษ ฆ่าความโกรธได้บุญ
อยากจะหนีความทุกข์ อย่าหวังความสุขทางกาย
ปฏิวัติดัดนิสัย เป็นการแก้ไขที่ถูกต้อง
ถ้ารักประเทศชาติ อย่าถือโอกาสร่ำรวย
ถ้าอยากเป็นคนก้าวหน้า อย่ามัวอิจฉาคนอื่น
อยากเป็นชายจริงหญิงแท้ อย่าเปลี่ยนแปรประเพณี
คุณค่าของสัตว์อยู่ที่กาย คุณค่าหญิงที่ชายอยู่ที่ความประพฤติ
ภัยใหญ่ของชีวิต คือความคิดลุ่มหลง
ถูกบัณฑิตนินทา ดีกว่าถูกพาลายกย่อง
ถ้าไม่อยากให้ผิดหวัง ให้ระวังอย่าโลภ
ถ้าไม่อยากให้จิตวุ่นวาย ให้นึกถึงตายไว้บ้าง
ถ้าไม่อยากจะเศร้าโศก ให้มองโลกเป็นอนิจจัง
เป็นอยู่อย่างเกียจคร้าน จะล้างผลาญสมบัติ เป็นอยู่อย่างประหยัด จะได้สมบัติจากตัวเอง
เจริญทางวัตถุ จะคุกรุ่นเป็นไฟ เจริญทางจิตใจ จะแจ่มใสสงบ
มีธรรมเป็นอำนาจ จะปราศจากเวรภัย มีอธรรมเป็นใหญ่ เวรภัยจะตามมา
ความสุขแบบชาวโลก มีทุกข์โศกเป็นผล ความสุขอริยชน มีผลเป็นความสงบ
เลิกเห็นแก่ตัวได้เมื่อไร จะสุขใจเมื่อนั้น
ไม่ทำการงาน คบอันธพาล มั่วสุขสำราญ ไม่นานหมดตัว
มัวเมาอามิส หลงยาเสพติด ทำการทุจริต ยาพิษสังคม
อวดดื้อถือตน ไม่ฟังเหตุผล ยุแยงแฝงกล คือคนทำลาย
แก้ด้วยการเพิ่ม จะเสริมปัญหา แก้ด้วยปัญญา ปัญหาจะลด
โลกนี้สับสน เพราะคนมุ่งรบ โลกนี้สงบ เพราะเคารพธรรม
ขยันหมั่นไว้จะได้ดี แต่อย่ามีความโลภ
หวังได้ทรัพย์จากการพนัน คือความเพ้อฝันของคนสิ้นคิด
ความหลงไหลอบายมุข คือความทุกข์ของครอบครัว
ปัญหาเศรษฐกิจและจิตใจ ต้องแก้ไขพร้อมกัน
ทางพัฒนาที่ถูกทาง คือการเสริมสร้างคนดี
ดูคนดี ดูที่การกระทำ ดูผู้นำ ดูที่การเสียสละ
ศัตรูของประเทศชาติ คือประชาราษฎร์ขาดสามัคคี
ความคิดริษยา เหตุที่มาของการแตกแยก
ชีวิตที่ยุ่งยาก เพราะมีความอยากมากเกินไป
ทุกข์ยากที่อุปาทาน สุขสำราญที่ปล่อยวาง
หมั่นนึกถึงความตาย คืออุบายแห่งความไม่ประมาท
คนเกียจคร้านไม่ทำงาน เป็นคนพิการสากล
คนที่หวังพึ่งโชคชะตา เป็นคนปัญญาอ่อน
คนที่ท้อถอยเบื่อหน่าย เป็นคนตายก่อนหมดอายุ
คนที่มัวเมาเอาแต่เงิน จะห่างเหินจากญาติมิตร
กินเหล้าเพื่อเข้าสังคม เป็นค่านิยมที่ผิด
ภัยที่น่ากลัวคือความตาย ทางแห่งความฉิบหายคือ อบายมุข
ไม่หลงของเก่า ไม่เมาของใหม่ เป็นหัวใจการพัฒนา
คนเก่ง ๆ มีมาก คนที่หายากคือคนดี
ความวิตกกังวลใจ เป็นโรคร้ายของชีวิต
ความยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นอุบายสร้างสันติ
ตัวอย่างที่ไม่ดีในสังคม สร้างค่านิยมที่ให้โทษ
ความง่ายอยู่ที่ปาก ความยากอยู่ที่ทำ
ทำดีไม่มีประมาณ ก่อความรำคาญให้คนอื่น
สู้รบแบบพุทธะ คือการเอาชนะตัวเอง
ระวังหูของเรา ดีกว่าเฝ้าปิดปากคนอื่น
เหนื่อยกายหลับสนิท เหนื่อยจิตหลับไม่ลง
ไม่หยุดไม่ถึงพระ ไม่ละไม่ถึงธรรม
ลำบากเพราะการงาน ดีกว่าสำราญแล้วกลุ้ม
มั่งมีเพราะประหยัด อัตคัดเพราะฟุ่มเฟือย
คุณความดีมีมาก ส่วนที่หายากคือคนทำดี
ทำอะไรตามใจว่า สร้างปัญหาให้ตัวเอง
อามิสเป็นเพียงสิ่งอาศัย ความสุขใจอยู่ที่ความสงบ
ความสุขที่ได้จากตัณหา มีค่าเท่ากับความทุกข์
สะดวกนักมักง่าย สบายนักมักลืมตัว
การรู้จักปล่อยวาง เป็นวิถีทางสงบสุข
เวลาไม่ได้ทำให้คนเสียคน คนต่างหากทำให้เสียเวลา
เหล้าไม่ได้ทำให้คนเมา คนต่างหากเมาเหล้า
สัตว์ไม่ได้โหดร้ายกว่าคน คนต่างหากโหดร้ายกว่าสัตว์
ศีลธรรมไทยได้เสื่อม คนต่างหากเสื่อมจากศีลธรรม
ความสุขไม่ได้อยู่ที่ความสมปรารถนา การรู้จักทำใจ เมื่อไม่สมปรารถนาต่างหากเป็นความสุข
สังคมวุ่นวาย เพราะอบายมุข
ทำแล้วไม่พูด ดีกว่าพูดแล้วไม่ทำ
มีทรัพย์อับปัญญา จะพาให้เดือดร้อน
เป็นอยู่อย่างเรียบง่าย คืออุบายการประหยัด
แต่งแต่กายไร้ค่า ถ้าไม่แต่งใจ
คิดเอาแต่ได้ จะเสียใจภายหลัง
เป็นอยู่อย่างบัณฑิต จะมีชีวิตอย่างปลอดภัย
จงทำตามความถูกต้อง อย่าทำเพราะความถูกใจ
ทำอารมณ์ให้ผ่องใส เป็นอุบายแก้ทุกข์
พัฒนาไปจะไร้ผล ถ้าทุกคนหวังแต่เงิน
อยู่นานไปจะไร้ชาติ ถ้าขาดความสามัคคี
คิดไปก็ไร้คุณ ถ้ามัววุ่นอยู่แต่คิด
ทำไปก็ไร้ค่า ถ้าไม่กล้าจะทำจริง
ยิ่งทำไปยิ่งได้บุญ ถ้าเกื้อกูลกันและกัน
ภาวนาให้ใจสงบ จะได้พบสันติภาพ
บอกบุญบ่อย ๆ จะถอยศรัทธา บอกถูกเวลา ศรัทธาเจริญ
ถ้าผูกใจเจ็บ จะเจ็บใจเรา ถ้าเมตตาเขา ใจเราสบาย
ความคิดริษยา พาใจให้วุ่น เมตตาการุณ อบอุ่นไมตรี
ความกังวลใจ เป็นภัยเป็นพิษ สำรวมความคิด ชีวิตเบิกบาน
โลกที่สับสน เพราะคนวุ่นวาย จะสุขสบาย เป็นเรื่องของคน
ถ้าปล่อยก็ว่าง ถ้าวางก็เบา ถ้าเอาก็หนัก
ถ้าจะพัฒนาเขา ให้พัฒนาตัวเราก่อน
ขยันไม่สันโดษ ทุกข์โทษจะตามมา
บ้างเมืองจะพินาศ เพราะคนในชาติกอบโกย
ระฆังดังเมื่อคนตี คนดีไม่ต้องตีก็ดัง
ลืมอะไรก็ลืมได้ แต่อย่าหลงใหลลืมตัว
ทำอะไรตามอารมณ์ ทุกข์ระทมจะตามมา
หลงทางเหนื่อยกาย หลงงมงายให้แต่โทษ
ความดีอยู่ที่การเสียสละ ชัยชนะอยู่ที่ขันติธรรม
ดูตัวเราคอยเฝ้าดูความคิด ดูญาติมิตรให้พินิจความดี
หลงอามิสมืดมิดมัวตา หลงปริญญาเพิ่มมานะทิฐิ
ขับรถช้า ๆ เทวดาคุ้มครอง ขับรถคะนองผีจองเฝ้าป่าช้า
หญิงชายจะไร้เพศ ถ้าปฏิเสธศีลธรรม
โลกนี้ไม่มีปัญหา ถ้าศึกษาให้รู้ความจริง
สิ่งที่ได้มาเปล่าคือความเฒ่าชรา สิ่งที่ต้องแสวงหาคือคุณค่าของชีวิต
โลกนี้ไม่มีอะไรใหม่ นอกจากความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง
ความร้อนอบอ้าวจะมาก่อนฝน ความลำบากยากจนจะมาก่อนความสุข
โลกนี้แจ่มใสสำหรับคนใจกว้าง โลกนี้เวิ้งว้างสำหรับคนใจดำ
วาจาอ่อนหลานลูกหลานใกล้ชิด วาจาเป็นพิษญาติมิตรห่างไกล
อดีตจะหมดจดอนาคตจะสดใส ต้องแก้ไขที่ปัจจุบัน
ถ้าถือคนบ้า ถ้าท้าคนเมา ถ้าเข้าคนผิด จะเป็นพิษแก่ตัว
อุปสรรคปัญหา เป็นที่มาของความสำเร็จ
ทำดีไม่ได้ผล เพราะทำตนลุ่ม ๆ ดอน ๆ
มีเงินล้นฟ้า ไม่เท่าค่าของคน
ทำความดีแล้วตาย ดีกว่าอยู่สบายไม่ทำประโยชน์
คนดียินดีทำทาน คนอันธพาลระรานทำลาย
ผู้ใหญ่หลงลืมตัว น่ากลัวกว่าเด็กดื้อ
สัตว์ตายเพราะเหยื่อ คนถูกเบื่อเพราะอามิส
ขับรถซิ่งๆ จะวิ่งไปตาย ขับรถมักง่าย จะตายฟรีฟรี
เห็นคนเมา เท่ากับเห็นคนบ้า เห็นคนขี้ยา เหมือนเห็นคนตาย
ถ้าไม่อยากยากจน อย่างทำตนเป็นคนมั่งมี ถ้าอยากเป็นเศรษฐี ให้ทำทีเป็นคนจน
เมาสุราพาให้ประมาท เมาอำนาจพาชาติล่มจม
ความดังไม่คงที่ ความดีไม่เปลี่ยนแปลง
ไม่ระวังปาก ได้ศัตรู ไม่ระวังหู ขาดหมู่ญาติมิตร
ชีวิตจะผิดหวัง ถ้ามัวแต่นั่งนอนคอย
คนฉลาดที่ขาดคุณธรรม เป็นผู้นำที่ดีไม่ได้
ความหรูหราของชาวสังคม เป็นค่านิยมที่เสื่อม
พูดตั้งพันคำ สู้ทำให้ดีไม่ได้
อย่าคบคนชั่วเป็นมิตร อย่าทำบัณฑิตให้เป็นศัตรู
ความงามอยู่ที่ความดี ความมั่งมีอยู่ที่ความสันโดษ
แมลงวันชอบของเน่า คนโง่เขลาชอบทำบาป
การรักษาศีลห้า ช่วยแก้ปัญหาโรคเอดส์
ถ้าไม่ได้ทำความดี มีชีวิตอยู่ร้อยปีก็ไร้ค่า
ฟังมากได้ปัญญา ไม่ระวังวาจาได้โทษ
โอกาสที่ดีของคน ขึ้นอยู่กับความสนใจ
วิชาให้ความฉลาด ถ้าขาดธรรมก็ให้โทษ
คนฉลาดขาดความดี เป็นคนอัปรีย์สังคม
ถ้าจะทำตัวให้เหมือนเขา ให้ดูเงาตัวเราก่อน
ทุกสิ่งดูน่ารัก ถ้ารู้จักดูส่วนดี
สุริยุปราคา พระอาทิตย์มืดมัว จะดีจะชั่ว อยู่ที่ตัวเราเอง
เศษกองขยะ เกะกะทั่วบ้าน เศษคนอันธพาล รำคาญทั่วเมือง
พูดให้เขารัก ยากนักยากหนา พูดให้เขาด่า ว่าง่ายนิดเดียว
ติดคุกมีเวลาพ้นโทษ คนที่มักโกรธ ถูกทำโทษตลอดกาล
ความสุขมิได้อยู่ที่ความมั่งมี การทำใจให้พอดี คือยอดความสุข
คนดี ดีกว่าของดี มีคนดี ดีกว่ามีของดี อยากเป็นคนดี ต้องทำความดี
ชีวิตจะมีค่า เพราะทำเวลาให้มีคุณ
คุณสมบัติประจำชีวิต คือสุจริตประจำใจ
ความเจริญทางวัตถุ ยั่วยุให้คนลืมตัว
อย่าเป็นทุกข์ในสิ่งที่เสียไป จงพอใจในสิ่งที่มีอยู่
พระดังอาจจะไม่ดี พระดีอาจจะไม่ดัง
ความขยันเป็นคุณสมบัติของคน ความอดทนเป็นคุณสมบัติของพระ
ชีวิตคือสนามรบ จะต้องพบทั้งความแพ้ความชนะ
ถึงยากจนก็เหมือนมั่งมี ถ้ายินดีในสิ่งที่มีอยู่ ถึงมั่งมีก็เหมือนยากจน ถ้าไม่พอใจในสิ่งที่มีอยู่
ร่างกายนี้เป็นโลกอนิจจัง เป็นเรือนของโรค เป็นที่อยู่โรค