จารุวณฺโณภิกฺขุ

จารุวณฺโณภิกฺขุ
สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อานิสงส์ต่างๆของไทย

อานิสงส์ถวายเครื่องเถราภิเษก
...ในกาลครั้งนั้นองค์สมเด็จพุทธเจ้า เสด็จประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร พร้อมภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป ในกาลครั้งนั้น พระเจ้าปัสเสนทิโกศล พร้อมด้วยมหาอำมาตย์ทั้งหลาย ได้นำเครื่องสักการะทั้งหลาย เข้าไปสู่พระเชตะวันมหาวิหารถวายอภิวาท แด่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วทูลถามว่า ภนฺเต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญอันบุคคลใดกระทำสักการะบูชาสรงเถราภิเษก แก่สงฆ์ ด้วยใจเลื่อมใสศรัทธาจะได้ผลอานิสงส์เป็นอย่างไรพระเจ้าข้า องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูกรมหาราช บุคคลใด มีความเชื่อในคุณพระรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการในเมื่อปรารถนาอันใด ก็จะสมความมุ่งมาตรปรารถนา ทุกประการ การทำเถราภิเษกนี้ได้ทำกันสืบ ๆ มาในครั้งพุทธเจ้าก่อน ๆ  แล้วพระองค์ทรงแสดงสืบต่อไปว่า ในกาลครั้งนั้นเป็นสมัยครั้งศาสนาของพุทธเจ้าเมธังกร ยังมีพระยาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าวิชัยยะ ได้เสวยสมบัติในเมืองสารนครประกอบไปด้วยทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ มีเถระองค์หนึ่งชื่อว่าอุสสาเป็นอันเตวาสิกแห่งพุทธเจ้าเมธังกร พระยาวิชัยยะได้ทอดพระเนตรเห็นพระมหาเถระเข้ามาในเมือง พระยาวิชัยยะก็มีใจศรัทธาเลื่อมใสในอิริยาบถ ของพระมหาเถระเจ้าเสร็จไปต้อนรับนิมนต์ให้ไปสู่ปราสาทของพระองค์ แล้วก็จัดแจงสรงเถราภิเษกด้วยน้ำหอม เสร็จแล้วถวายภัตตาหารตั้งความปรารถนาว่า ปวงชนทั้งหลายที่อยู่ในขอบเขตขัณฑเสมา ขอจงตั้งอยู่ในโอวาทคำสอนของพระองค์ทุกเมื่อและขอให้ข้าพระองค์ได้พ้นจากทุกข์ภัยเวร ข้าศึกศัตรูทั้งหลายด้วยบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้กระทำไว้ในอนาคตกาลโน้นเทอญพระมหาเถระเจ้าก็ได้อนุโมทนาแห่งพระยาวิชัยยะ แล้วถวายพระพรทิพย์ ๑๐ ประการ ลากลับไปสู่สำนักแห่งพระมหาเถระเจ้า พระยาวิชัยยะได้รับพร แห่งพระมหาเถระแล้วมีจิตยินดีรื่นเริงบันเทิงใจ ต่อบุญกุศลของพระองค์ที่ทรงกระทำไว้ ครั้นจุติจากโลกแล้วก็ไปอุบัติ อยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตพิภพมีวิมานทองสูง ๒๒ โยชน์มีนางเทพอัปสรแสนหนึ่งเป็นบริวาร ครั้นสิ้นชีพเทวบุตรแล้วได้ไปเกิดเป็นเจ้าพระสิริตะ เสริมสร้างบารมีให้แก่กล้าขึ้นไป ได้มาเกิดเป็นองค์พระตถาคตเดี๋ยวนี้แล
อานิสงส์ก่อสร้างพระเจดีย์ทราย
นเมื่อพระองค์เสด็จประทับอยู่ ณ บุพพารามมหาวิหารในนครสาวัตถีได้เทศนาถึงอานิสงส์ก่อเจดีย์ทรายแล้วตั้งความปรารถนาไว้ เป็นใจความว่าวันหนึ่งเป็นฤดูร้อนอากาศร้อนอบอ้าวมาก พระเจ้าปัสเสนทิโกศลทรงพักผ่อนพระอิริยาบถให้สบาย ณ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำไม่ห่างจากพระนครเท่าใดนักได้ทรงทอดพระเนตรเห็นทรายขาวสะอาดราบเรียบดีนัก มีพระดำริว่าควรทำเป็นรูปเจดีย์ขึ้น เพื่อบูชาพระรัตนตรัย ดีกว่าที่เราจะมาเดินเล่นโดยเปล่าประโยชน์ เมื่อทรงดำริเช่นนั้น แล้วก็รีบลงมือก่อเป็นรูปเจดีย์ด้วยพระองค์เอง พวกบริวารทั้งหลายที่ตามเสด็จ ก็ลงมือก่อตามไปด้วย เมื่อสำเร็จแล้วมองก็เป็นทิวแถวสวยงามเกิดมีความปิติยินดีเป็นที่ยิ่ง เพราะนับดูแล้วมี ๘ หมื่น ๔ พันองค์พระบรมกษัตริย์ทรงโสมนัสเป็นยิ่งนัก ก็เสด็จกลับมาสู่บุพพารามมหาวิหารถวายอภิวาท แล้วก็นั่งอยู่ส่วนข้างหนึ่งแล้วกราบทูลถึงอานิสงส์ของการก่อพระเจดีย์ทรายบูชาพระรัตนตรัย ที่พระองค์ได้ทรงกระทำมาแล้ว โดยตลอดพระพุทธองค์ทรงโปรดประทานพระธรรมเทศนาว่า มหาราชดูกรมหาบพิตรนรชนหญิงชายทั้งหลายเหล่าใด มีศรัทธาเลื่อมใสอุตสาห์พากเพียรพยายาม ทำการก่อสร้างพระเจดีย์ทรายใหญ่น้อยก็ดี มีจำนวนถึง ๘ หมื่น ๔ พันองค์นั้น หรือว่าจะมากน้อยแค่ไหนก็ตาม ด้วยศรัทธาอันแรงกล้า ก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิตลอดร้อยชาติ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเป็นผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติบริวารเป็นอันมาก ครั้นตายไปจากมนุษย์โลก ก็จะไปเกิดในสวรรค์เสวยทิพย์สมบัติ แม้พระตถาคตก็เคยได้กระทำมาแล้ว ในครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ บำเพ็ญบารมีอยู่แล้วพระองค์นำอดีตนิทานมาแสดงต่อไปว่าครั้งนั้นพระตถาคตได้เกิดในตระกูลอนาถา พอเจริญวัยขึ้นก็ต้องเข้าป่าแสวงหาฟืนมาขายเลี้ยงชีพกระทำอย่างนี้เป็นอาจิณ อยู่มาวันหนึ่งได้เห็นทรายขาวสะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่องในราวป่าก็มีจิตผ่องใสศรัทธาใคร่จะก่อพระเจดีย์บูชาพระรัตนตรัย จึงสละเวลาไม่ตัดฟืนทั้งวัน ได้ก่อพระเจดีย์ทรายเสร็จแล้วได้ฉีกผ้าห่มผืนหนึ่งปักเป็นธงชัย แล้วบูชาพระรัตนตรัยในพุทธบาทศาสดาของพระติสสะสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วตั้งความปรารถนาว่า ขอให้ข้าพเจ้าได้สำเร็จพระโพธิญาณในอนาคตกาลโน้นเทอญครั้นทำลายขันธ์แล้วไปเกิดอยู่ชั้นดาวดึงส์มีวิมานสูง ๑๒ โยชน์ เสวยทิพย์สมบัติอยู่ถึง ๒ พันปีทิพย์ เมื่อสิ้นอายุขัยแล้วได้จุติมาเกิดเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพาราณสี ได้ท่องเที่ยวอยู่ในมนุษย์โลก บำเพ็ญบารมีญาณจนเต็มเปี่ยมดีแล้ว จึงได้มาอุบัติเป็นพระตถาคต ดังที่มหาบพิตรปรารภอยู่ขณะนี้เมื่อจบพระธรรมเทศนาลงแล้ว พระเจ้าปัสเสนทิโกศล พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายก็มีความยินดีโสมนัสในการที่พระองค์ทรงก่อ พระเจดีย์ทรายบูชาคุณพระรัตนตรัยโดยไม่เปล่าประโยชน์
อานิสงส์ถวายพระเจดีย์ข้าวเปลือก
สมัยหนึ่งองค์สมเด็จพระศาสดาเสด็จประทับ อยู่ในบุพพารามมหาวิหาร ณ กรุงสาวัตถี
ทรงพระปรารภพระเจ้าปัสเสนทิโกศล ผู้เป็นใหญ่ในแคว้นโกศลและกาสี โดยพระเจ้าปัสเสนทิโกศล แวดล้อมไปด้วย เสวกามาตย์ราชบริพารทั้งหลายได้เสด็จไปทอดพระเนตรชาวนา เพื่อเป็นการพักผ่อนพระราชหฤทัยทรงสบายในทุ่งนา ที่ไม่ห่างไกลจากพระนครเท่าไรนักได้ทอดพระเนตรเห็นชาวนากำลังนวดข้าว แล้วนำมากองพูนสูงใหญ่ก็พอพระราชหฤทัยจึงเสด็จลงจากพระราชยานพร้อมด้วยเสวกามาตย์ราชบริพารทั้งหลาย แล้วทรงชักชวนชาวนาให้เอาข้าวมารวมก่อ เป็นรูปเจดีย์บูชาพระรัตนตรัย พระองค์ทรงรับก่อด้วยพระองค์ เมื่อก่อเสร็จแล้วก็รับสั่งให้ทำโรงฉันในสถานที่นั้นแล้วเสด็จไปสู่สำนักพระศาสดาทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์บริวาร  ๕๐๐  รูปไปรับบิณฑบาตในวันพรุ่งนี้เช้า ณ โรงฉันในทุ่งนาเพื่อเป็นการฉลองรูปเจดีย์ที่ก่อด้วยข้าวเปลือกสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับด้วยดุษณียภาพ พอรุ่งเช้า พระเจ้าปัสเสนทิโกศล ได้เสด็จไปยังโรงฉันใน ทุ่งนานั้น ไปคอยรับเสด็จพระพุทธเจ้ากับภิกษุ ๕๐ รูป ให้เสด็จนั่งเหนืออาสนะแล้ว ก็ถวายอาหารบิณฑบาต แก่พระพุทธเจ้า พร้อมกับภิกษุเหล่านั้นเสร็จจากภัตตกิจแล้วพระเจ้าปัสเสนทิโกศลก็กราบทูลถามถึงผลานิสงส์ที่ได้ก่อเจดีย์ด้วยข้าวเปลือกนี้ ให้เป็นทานจะมีผลานิสงส์เป็นประการใดพระพุทธเจ้าข้าองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสเทศนาว่าดูกรมหาบพิตรนรชนหญิงชายใดมีจิตศรัทธาเลื่อมใสก่อสร้างพาลุกเจดีย์ ยังกองข้าวเปลือกให้เป็นทานดังที่มหาบพิตรกระทำอยู่ในขณะนี้ด้วยศรัทธา อันแรงกล้า มีความปีติปราโมทย์ปรีดายินดี บุคคลผู้นั้นจะไม่ไปสู่อบายภูมิตลอดร้อยชาติ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็จะมั่งครั่งด้วยทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก ครั้นตายไปจากมนุษย์ก็จะไปเสวยในทิพย์สมบัติ แม้พระตถาคตแต่ครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ บำเพ็ญบารมีธรรมอยู่ก็ได้ก่อเจดีย์ด้วยข้าวเปลือก โดยพระองค์ได้เกิดในตระกูลชาวนา เมื่อเจริญวัยแล้ว ก็ต้องทำไร่ไถนาเลี้ยงชีพ อยู่มาวันหนึ่งเห็นพระปัจเจกโพธิเจ้า อยู่ในราวป่าก็มีจิตเลื่อมใสได้สละข้าวเปลือกก่อเป็นเจดีย์ครั้นทำเสร็จแล้วก็เอาผ้าแพรมาทำเป็นธงปักประดับพระเจดีย์ครั้นทำเสร็จแล้วก็ไปอาราธนาพระปัจเจกโพธิออกมาถวายภัตตาหารทำการสักการบูชาแก่พระรัตนตรัย แล้วตั้งปรารถนาว่า ขอให้ข้าพเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้น ครั้นอยู่จนอายุแล้วได้ไปเกิดชั้นดาวดึงส์มีวิมานสูง  ๑๒  โยชน์อยู่ได้ประมาณ ๔ พันปี ทิพย์เมื่อจุติจากเทวโลกแล้ว มาเกิดเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพาราณสีได้ท่องเที่ยวอยู่ในมนุษย์โลกและเทวโลกบำเพ็ญบารมีจนเต็มดีแล้วจึงได้มาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระตถาคตดังที่ได้ปรากฏแก่มหาบพิตรอยู่ขณะนี้เมื่อพระธรรมเทศนาจบลงแล้วพระปัสเสนทิโกศล พร้อมข้าราชบริพารก็พากันยินดีโสมนัสเป็นยิ่งนัก
อานิสงส์ต่ออายุ
บุญต่ออายุนี้นับว่าเป็นการไม่ประมาท เพราะทำตามประเพณีของพุทธศาสนา ได้อาราธนาพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ สวดพระปริตแล้วยังมาจัดให้มีพระธรรมเทศนาอีกด้วยดังนี้ แม้แต่ในเมื่อองค์สมเด็จพระบรมศาสดายังมีพระชนม์อยู่ พระองค์ได้ทำทรงทำมาแล้วกับอายุวัฒนกุมาร ดังอาตมาภาพจักยกแสดงเป็นนิทัสนอุทาหรณ์ เพื่อจะได้เป็นเครื่องประดับสติปัญญาบารมีกุศลสืบต่อไป ดังมีใจความว่ามีพราหมณ์ ๒ คน เป็นชาวทีฆลัมพิกนคร บวชในลัทธิภายนอกพระศาสนาบำเพ็ญตบะอยู่สิ้น ๑๘ ปี บรรดาพราหมณ์ ๒ คนนั้น คนหนึ่งคิดว่าประเพณีของเราจักเสื่อมจึงได้สึกขายบริขารของตนให้แก่ชนทั่วไป เสร็จแล้วได้ภรรยาคนหนึ่งพร้อมด้วยโค ๑๐๐ ตัว ทรัพย์ ๑๐๐ กหาปณะตั้งไว้เป็นทุนฝ่ายภรรยาของเขาคลอดบุตรแล้วส่วนสหายนอกนี้ไปสู่ต่างถิ่นกลับสู่นครนั้นเมื่อพราหมณ์สหายทราบข่าวจึงได้พาบุตรภรรยาไปเยี่ยม เมื่อไปถึงพราหมณ์และภรรยาไหว้สหายก็กล่าวว่า ขอให้ท่านทั้ง ๒ จงมีอายุยืน ถึงคราวบุตรไหว้สหายไม่ได้พูดว่ากระไร พราหมณ์ตกใจ จึงได้รีบถามว่าทำไมละสหาย เมื่อเราทั้งสองไหว้จึงกล่าวว่าจงมีอายุยืน คราวบุตรไหว้ทำไมจึงไม่พูดว่ากระไร เหตุไรจะมีขึ้นหนอสหายเด็กนี้จะตายภายใน ๗ วัน พราหมณ์รู้สึกตกใจเป็นกำลัง จึงได้ถามอุบายแก้ว่าสหายมีวิธีแก้บ้างไหมสหายไม่มีแล้ววิธีแก้นี่เราเห็นสมณโคดมพระองค์เดียวพระองค์มีวิธีแก้ไขอย่างเลิศสหาย เราจะไปได้อย่างไรเดี๋ยวตบะของเราก็เสื่อมเท่านั้น ลูกตายกับตบะเสื่อมจะเอาอย่างไหนดีพราหมณ์เลยตัดสินใจพาบุตร และภรรยาไปสู่สำนักของพระศาสดาเมื่อถึงแล้วก็ ไหว้พระศาสดาพระองค์ก็ตรัสว่าจงมีอายุยืน ต่อเมื่อบุตรน้อยไหว้พระศาสดาก็ไม่ตรัสว่ากระไรพราหมณ์จึงกราบทูลถึงวิธีแก้ไขเหตุนั้น พระศาสดาตรัสอุบายที่จะไม่ให้เด็กนั้นตายใน๗วันแก่พราหมณ์ว่าท่านเองทำมณฑปไว้ เมื่อเสร็จแล้วก็นิมนต์พระสงฆ์ไปเจริญพระพุทธมนต์๘รูปหรือ๑๖รูปพราหมณ์จึงรับได้พระเจ้าเข้าพระศาสดาเมื่อพราหมณ์สร้างมณฑปเสร็จแล้ว จึงได้ส่งภิกษุไปตามจำนวนที่พราหมณ์ต้องการภิกษุได้เจริญพระพุทธมนต์สิ้น ๗ วัน ในวันที่ ๗ พระศาสดาได้เสด็จไปเอง เจริญพุทธมนต์ด้วยหมู่ภิกษุ อวรุทธกยักษ์ผู้บำรุงท้าวเวสสุวรรณ ต้องการจะจับเด็กนั้นไปกินเป็นอาหาร ก็กลับไปด้วยความผิดหวัง ในวันที่ ๘ สองสมีภรรยาได้นำบุตรมาวางไว้แทบพระบาทของพระศาสดา พระองค์จึงตรัสว่าขอเจ้าจงมีอายุยืน พราหมณ์ถามด้วยความสงสัยว่าจะมีอายุเท่าไร พระเจ้าข้า พระศาสดาตรัสตอบว่า ๑๒๐ ปี พราหมณ์พราหมณ์ ๒ สามีภรรยาจึงตั้งชื่อบุตรว่า อายุวัฒนกุมาร เมื่อเขาเติบโตแล้วได้มีอุบาสก ๕๐๐ คน แวดล้อมแล้ว ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่าผู้มีอายุทั้งหลายอายุวัฒนกุมารนี้จะตายภายใน ๗ วัน แต่แล้วกลับจะมีอายุ ๑๒๐ ปี เหตุเป็นเครื่องเจริญแห่งอายุ ของสัตว์เห็นจะมี พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลายพวกเธอสนทนาด้วยเรื่องอะไรกัน เมื่อภิกษุกราบทูลว่า เรื่องชื่อนี้พระองค์จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายอายุเจริญอย่างเดียวเท่านั้นหามิได้ ก็สัตว์เหล่านี้ไว้ท่านผู้มีพระคุณ ย่อมเจริญด้วยเหตุ ๔ ประการ พ้นจากอันตรายดำรงอยู่จนตลอดอายุทีเดียว
อานิสงส์เผาศพ
ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลผู้ใดมีจิตเมตตาสงเคราะห์เผาสรีระร่างกายของคนอนาถาที่มีแต่ร่างกระดูกผู้นั้นจะบริบูรณ์ไปด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ ศฤงคาร บริวารมากถึง ๘ พัน ถ้าซากศพนั้นยังมีเลือดเนื้ออยู่จะอำนวยผลให้เป็นผู้ มียศศักดิ์บริวารหนึ่งหมื่นถ้าเผาผีร่างกายของคนแก่เฒ่าชรา จะนำมาซึ่งธนสารยศศักดิ์บริวารแวดล้อม ถึง ๔ หมื่น ถ้าเผาซากศพญาติมิตรสหายบุตรและทารก จะอำนวยผลให้ผู้นั้นสมบูรณ์ หมื่นก็แลถ้าบุคคลผู้ใดมีใจศรัทธามาทำฌาปนกิจเผาศพบิดามารดา จะได้เสวยผลานิสงส์อันเป็นทิพย์ ยศศักดิ์สมบัติ บริวารประมาณแสนหนึ่งผู้ใดได้เผาสรีระร่างกายของภิกษุสงฆ์ จะได้รับผลานิสงส์ยศศักดิ์สมบัติ บริวารประมาณสองแสนมาตรแม้นแต่เผาซากศพนกที่ตกอยู่บนปฐพี ด้วยใจยินดีเลื่อมใสในศรัทธา ครั้นมาทำลายเบญจขันธ์ลงก็จะตรงไปเกิดบนสวรรค์มีวิมานเป็นที่อยู่ การทำฌาปนกิจในสรีระสัตว์เดียรัจฉาน ยังได้เสวยทิพย์สมบัติบนวิมานถึงเพียงนี้ ก็ท่านทั้งหลายได้กระทำการจุดเผาสรีระกายของมนุษย์ ยิ่งจะมีผลานิสงส์อันโอฬารกว่านี้ร้อยเท่าทวีคูณ จะเป็นบุญนิธิขุมทรัพย์นำให้อุบัติในสุคติโลกสวรรค์ อย่างไม่มีความสงสัย เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ(อธิบายโดย webmaster : การเห็นความจริงของสังขาร มรณสติ อนิจจัง เป็นตัวบุญของอานิสงส์นี้ ถ้าข้าพเจ้าเข้าใจผิดพลาดจากความเห็นผิดสิ่งใดโปรดงดเว้นโทษด้วยเทอญ)
อานิสงส์ถวายสัพพทาน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทานของสัปบุรุษเหล่านี้ ๘ อย่าง คือ ๑. ให้ของที่สะอาด
๒. ให้ของประณีต ๓. ให้ถูกกาล ๔. ให้ของที่สมควร ๕. เลือกให้ ๖. ให้เสมอ ๆ
๗. กำลังให้ยังจิตให้เลื่อมใส ๘. ครั้นให้แล้วปลื้มใจ สัปปุริสทาน ๘ อย่างนี้ประเสริฐยิ่งนักหนา ในกาลครั้งนั้น องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าก็สถิตสำราญอยู่ในป่าเชตวันอันเป็นอารามของนายอนาถปิณฑิกมหาเศรษฐีอยู่ในที่ใกล้ ๆ นครสาวัตถี ในกาลครั้งนั้นมีพระยาองค์หนึ่ง ชื่อ มหานามะ ก็เอา ประธูปประทีปคันธรสของหอม แล้วพาหมู่บริวารทั้งหลายเข้าไปสู่ที่เฝ้าพระสัพพัญญูเจ้า แล้วก็นั่งในที่ควรแห่งหนึ่ง จึงทูลถามพระสัพพัญญูเจ้าว่า ภนฺเต ภควาข้าแต่องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าบุคคลผู้ใดเลื่อมใสศรัทธา มาก่อสร้างสัพพาทานหลาย ๆ ชนิด ก็จักมีอานิสงส์ดังรือพระเจ้าข้า ภควาอันว่าองค์สมเด็จพระศาสดาจารย์เจ้าจึงเทศนาว่า ดูกรมหาบพิตร นรชนหญิงชายทั้งหลายมีใจเลื่อมใสศรัทธามาก่อสร้างสัพพาทานหลาย ๆ ชนิดเป็นต้นว่าสร้างพระพุทธรูปก็จักได้อานิสงส์๙กัลป
สร้างพระไตรปิฏกธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ก็ได้อานิสงส์ ๑๐ กัลป
ผู้ใดได้บวชตนเป็นสามเณรก็จักได้อานิสงส์๑๒กัลป
ผู้ไดได้บวชตนเป็นพระภิกษุก็จักได้อานิสงส์๒๔กัลป
ผู้ใดได้สร้างพระธาตุเจดีย์ก็จักได้อานิสงส์ ๘๐ กัลป
ผู้ใดได้ปลูกไม้ศรีมหาโพธิ์ ก็จักได้อานิสงส์ ๙ กัลป
ผู้ใดให้โภชะนังยังข้าวน้ำ โภชนะอาหารให้เป็นทานแก่ภิกษุสามเณร ก็จักได้บริวารแสนหนึ่ง
ผู้ใดได้สร้างเจดีย์ทรายก็จักได้อานิสงส์ ๖๐ กัลป
ผู้ใดสร้างกุฏีให้เป็นทานก็จักได้อานิสงส์ ๔๐ กัลป
ผู้ใดสร้างอุโบสถให้เป็น ทานก็จักได้อานิสงส์ ๔๐ กัลป
ผู้ใดสร้างกฐินให้เป็นทานก็จักได้อานิสงส์ ๘๐ กัลป
ผู้ใดสร้างอารามให้เป็นทานก็จักได้อานิสงส์ ๔๐กัลป
ผู้ใดสร้างพัทธสีมาให้เป็นทานก็จักได้อานิสงส์ ๑๐๐ กัลป
ผู้ใดได้บวชบุรุษผู้อื่นให้เป็นพระภิกษุก็จักได้อานิสงส์ ๘ กัลป
บวชบุตรตนเองให้เป็นภิกษุ ก็จะได้อานิสงส์ ๑๖ กัลป
ภรรยาบวชสามีของตนให้เป็นสามเณร ก็จักได้อานิสงส์ ๑๖ กัลป
ภรรยาบวชสามีของตนให้เป็นพระภิกษุ ก็จักได้อานิสงส์ ๓๒ กัลป
สามีบวชภรรยาให้เป็นภิกษุณี ก็จักได้อานิสงส์ ๖๔ กัลป
ผู้ใดได้สร้างพระเจดีย์ธาตุข้าวเปลือกให้เป็นทาน ก็จักได้อานิสงส์ ๓๑ กัลป
ผู้ใดสร้างพระเจดีย์ธาตุข้าวสารให้เป็นทานได้อานิสงส์ ๔๒ กัลป
ผู้ใดได้สร้างพระเจดีย์ธาตุเหลือให้เป็นทาน ก็จักได้อานิสงส์ ๖๔ กัลป
ผู้ใดสร้างรั้วล้อมอาราม ได้อานิสงส์ ๑๖ กัลป
ผู้ใดปัดกวาดขยะมูลฝอยถอนเสียจากเขตอารามได้อานิสงส์ ๑๖ กัลป
ผู้ใดสร้างศาลาสะพานบ่อน้ำให้เป็นทานได้อานิสงส์ ๓๐ กัลป
ผู้ใดได้ถวายดอกไม้ธูปเทียนได้อานิสงส์ ๘ กัลป
ผู้ใดได้สร้างอัฏฐให้เป็นทานได้อานิสงส์ ๓๖ กัลป
ผู้ใดได้ถวายจีวรเถราภิเษก ได้อานิสงส์ ๓๒ กัลป
ผู้ใดถวายผ้าป่าได้อานิสงส์ ๔๐ กัลป
ผู้ใดให้ฝาผนังและเพดานเป็นทานได้อานิสงส์ ๑๖ กัลป
ผู้ใดสร้างธงฝ้าย ธงผึ้ง ธงชัย ธงชาย ธงเหล็ก บูชาพระรัตนตรัย ได้อานิสงส์ ๖๔ กัลป
ผู้ใดสร้างขันหมากเบ็งบูชาระรัตนตรัย ได้อานิสงส์ ๑๖ กัลป
ผู้ใดถวายซึ่งข้าวพันก้อนบูชาพระรัตนตรัยได้อานิสงส์ ๑๖ กัลป
ผู้ใดถวายผ้าอาบน้ำฝน และผ้าจำนำพรรษา ได้อานิสงส์ ๑๖ กัลป
ผู้ใดสร้างปราสาทดอกผึ้งให้เป็นทาน ได้อานิสงส์ ๓ กัลป
ผู้ใดสร้างต้นกัลปพฤกษ์ให้เป็นทานได้อานิสงส์ ๑๖ กัลป์
ผู้ใดสร้าง ฆ้อง กลอง แคน ซอ หอยสังข์ ปี่ แตร แตรวง ดนตรีให้เป็นทานได้อานิสงส์ ๖๐ กัลปผู้ใดได้ถวายเสื่อสาดอาสนะได้อานิสงส์ ๔ กัลป
ผู้ใดถวายเตียงเก้าอี้ฟูกเบาะให้เป็นทาน ได้อานิสงส์ ๑๖ กัลป
ผู้ใดได้ปลูกกุฏีกรรมให้พระภิกษุเข้าปริวาสกรรม และมานัตตกรรม ได้อานิสงส์ ๑๖ กัลปผู้ใดได้สร้างบั้งไฟจุดบูชาพระรัตนตรัย ได้อานิสงส์ ๔ กัลป ผู้ได้สร้างพัทธสีมาน้ำได้อานิสงส์ ๖๗ กัลป
ผู้ใดได้สร้างธรรมาสน์ ได้อานิสงส์ ๓๒ กัลป ผู้ใดได้สร้างเวจกุฏี ได้อานิสงส์ ๔๐ กัลป
ผู้ใดได้เผาซากศพที่ตกเรี่ยราดอยู่ตามป่าตามดง ได้บริวารหมื่นหนึ่ง
ผู้ใดได้เผาศพญาติมิตรสหาย ได้บริวาร ๓ หมื่น
ผู้ใดได้เผาศพบิดามารดาได้บริวารหนึ่งแสน
ผู้ใดได้เผาศพอุปัชฌาย์อาจารย์ ได้บริวารโกฏิหนึ่ง
ผู้ใดได้ถวายโอ่งน้ำ และส้วมอาบน้ำ และครุตักน้ำก็ได้อานิสงส์ ๑๖ กัลป
สัพพทานทั้งหลายชนิดเหล่านี้บุคคลผู้ใดมีศรัทธากล้าหาญอาจสละสมบัติออกสร้างวัตถุประสงค์ ดังแสดงมานี้ ก็มีอานิสงส์ผลบุญพูนสุขในชั่วนี้และชั่วหน้า
อานิสงส์ที่ได้ปัจจุบันนี้คือ จะไปมาทางใดก็มีคนนับหน้า
ถือตาไม่ได้เป็นที่รังเกียจของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง มีแต่ผู้อยากให้ร่วมกินร่วมอยู่ทั้งนั้น เราจะเข้าไปสู่สมาคมใด ๆ ก็ไม่ครั้นคร้ามสยดสยองเกรงกลัวต่ออำนาจผู้ใด การทำมาหากินก็สมความมุ่งมาตรปรารถนาสมประสงค์ ครั้นสิ้นบุพพกรรมมนุษย์ในโลกนี้แล้ว ก็จะถือเอาตนเมื่ออุบัติขึ้นบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสายามาตุสิตาโดยลำดับ จนถึงพรหมโลก ครั้นจุติจากพรหมโลกลงมาเกิดในมนุษย์โลก ก็ไม่ได้ไปเกิดในหิเนกุลชั่วร้าย และจักได้ไปเกิดในตระกูลท้าวพระยามหากษัตริย์ หรือตระกูลพราหมณ์ผู้มั่งครั่งมั่งมีเศรษฐีกฎุมพีแล้วก็จักได้ทัวระวัดไปมาบารมีแก่กล้า ก็จะได้บ่ายหน้าเข้าสู่เมืองแก้วนิรพาน พอ
จบธรรมเทศนาแห่งองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าลง สมเด็จพระเจ้ามหานามะ ก็ได้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมณ์สามส่วนบริษัททั้งหลาย ก็ได้ถึงโสดาสกิทาคา อนาคา อรหันต์
อานิสงส์กรวดน้ำ
ในครั้งหนึ่ง องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ เชตะวันมหาวิหาร พร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์ มีพราหมณ์ผู้หนึ่งอยู่ในเมืองสาวัตถีนั้น มีทรัพย์สมบัติอยู่ 80 โกฎิ พราหมณ์ผู้นั้นมีบุตรชายอยู่คนหนึ่ง เป็นที่รักมากเพราะมีบุตรคนเดียว พอบุตรชายมีอายุได้ประมาณ 17 ปี ก็เกิดโรคาพยาธิมาเบียดเบียน ก็ถึงซึ่งความตายไป พราหมณ์ผู้เป็นพ่อและแม่ บังเกิดความทุกขเวทยาโทมนัสเศร้าโศกเสียใจ เพราะอาลัยรักในบุตรที่ตายไปอย่างยิ่ง จึงให้สั่งคนใช้ที่เป็นบริวาร นำเอาศพไปเผาในป่าช้าและสั่งให้ปลูกศาลาขึ้นหนึ่งหลัง มีเสื่อสาดอาสนะ แล้วจัดทาสคนหนึ่งไปคอยปฏิบัติรักษาอยู่ในป่าช้านั้น เพื่อจะได้ส่งข้าวน้ำอาหารเข้าและเย็นให้แก่ลูกชายของตนทุก ๆ วันมิได้ขาด ทำเหมือนกับบุตรชายของตนมีชีวิตอยู่ ทาสผู้นั้นก็ทำตามคำสั่งอยู่เสมอมิได้ขาดเลยสักวันเดียว
อยู่มาวันหนึ่ง บังเอิญฝนตกหนักมากน้ำก็ท่วมหนทางที่จะไปนั้นทาสผู้นั้นจะข้ามไปก็ไม่ได้จึงกลับมาในระหว่างทางพบพระภิกษุรูปหนึ่งมาบิณฑบาตก็เลยเอาอาหารนั้นใส่บาตรให้เป็นทานแก่พระภิกษุ แล้วก็กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญนั้นส่งให้แก่ผู้ตาย ลูกชายที่ตายไปนั้นมานิมิตฝันให้พราหมณ์ผู้เป็นพ่อว่า ข้าพเจ้าได้ตายไปนานแล้วไม่เคยได้กินข้าวเลยสักวันเดียว เพิ่งจะมาได้กินข้าวแต่วันนี้วันเดียวเท่านั้นครั้นพราหมณ์ผู้เป็นพ่อได้นิมิตฝันอย่างนี้ก็ใช้ให้คนไปตามทาสผู้ไปคอยเฝ้าปฏิบัติมาไถ่ถามดูทาสผู้นั้นก็ตอบว่าข้าพเจ้าไปส่งข้าวทุก ๆ วัน แต่วันนี้ข้าพเจ้าไปไม่ได้ฝนตกหนัก น้ำท่วม
ก็กลับมาพบพระภิกษุรูปหนึ่งมาบิณฑบาต
ข้าพเจ้าก็เลยเอาข้าวนั้นใส่บาตร แก่ภิกษุรูปนั้น แล้วอุทิศส่วนบุญนี้ไปให้บุตรของท่าน บุตรของท่านก็คงจะได้กินข้าวแต่วันนี้วันเดียวดังนี้แล ครั้นพราหมณ์ได้ฟังดังนั้นแล้วก็คิดว่าเราจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเสียก่อน จะทูลถามพระพุทธเจ้าว่าเป็นอย่างไร พราหมณ์ก็ถือดอกไม้ธูปเทียนของหอมเข้าไปสู่สำนักพระพุทธเจ้าแล้วบูชาเครื่องสักการะนั้น แล้วนั่งที่สมควรแก่ตน ได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ข้าแต่
องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า คนหญิงชายทั้งหลายในโลกนั้นครั้นเขาตายไปปรโลกแล้วผู้อยู่ภายหลังได้แต่งข้าทาสชายหญิงให้ไปปฏิบัติแล้วปลูกศาลาไว้ให้ เอาเสื่อสาดอาสนะช้างม้าวัวควายไปในป่าชั้นนั้น จะเป็นอานิสงส์แก่ผู้ภายไปนั้นหรือไม่ พระพุทธเจ้าข้า
องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ตรัสพระธรรมเทศนาว่า ดูกรพราหมณ์จะให้เป็นอานิสงส์แก่ผู้ตายนั้น ควรถวายสังฆทานให้แก่พระภิกษุสงฆ์สามเณร ตรวจน้ำอุทิศส่วนบุญกุศลที่ตนได้กระทำนั้นให้แก่ผู้ตาย จึงจะเป็นผลอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ไพศาลผู้ที่ตายไปแล้วนั้นครั้นได้รับส่วนอุทิศอันให้แล้วก็จะพ้นทุกข์ทั้งมวลนั้นได้อย่างแน่แท้ ครั้นพราหมณ์ได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วก็ชื่นชมยินดีอย่างมาก แล้วทูลอาราธนาพระพุทธเจ้ากับทั้งพระภิกษุสงฆ์ไปสู่บ้านเรือนของตน เพื่อฉันภัตตาหารครั้นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้ากับพระภิกษุสงฆ์ ฉัน
ภัตตาหารเสร็จ ได้ถวายปัจจัย 4 มี จีวร เป็นต้น แล้วตรวดน้ำอุทิศส่วนบุญไปให้แก่ลูกชายของตน องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาว่า ดูกรพราหมณ์ตั้งแต่นี้ต่อไปอย่าได้ไปปฏิบัติ อยู่ในป่าช้านั้นอีกเลยท่านจงรักษาศีลภาวนาอย่าได้ขาด บุตรของท่านก็จะได้พ้นทุกข์ ขึ้นไปเสวยสุขอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาจบลงแล้ว บุตรชายของพราหมณ์ผู้ตายไปแล้วนั้นก็พ้นจากเปรตวิสัย ได้ไปอุบัติบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีวิมานทองสูง 12 โยชน์ มีนางฟ้าเทพอัปสรพันหนึ่งเป็นบริวาร พราหมณ์ผู้เป็นบิดาก็ตั้งอยู่ในศีล 5 ศีล 8 ตราบเท่าสิ้นชีวิตแล้วได้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีปราสาททองและเทพกัญญาหนึ่งหมื่นเป็นบริวาร ดังนี้เป็นต้น
อานิสงส์ถวายปราสาทผึ้ง
ในกาลครั้งหนึ่งนั้นองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่กรุงสาวัตถี เป็นที่โคจร
บิณฑบาตพระองค์ประทับอยู่ในบุพพารามวิหาร ทรงขวนขวายแต่ที่จะรื้อเวไนยสัพพะสัตว์ทั้งปวง ให้ออกจากสังสารวัฎตรัสพระสัทธรรมเทศนาโปรดสัตว์ ให้ได้มรรคสี่ ผลสี่ ประดิษฐานในพระนิพพานอันเกษมสุขนิราศภัย
ในกาลครั้งนั้น ยังปัสเสนะทิโกสะโลราชา อยู่มาในวันเพ็ญแห่งเดือนสามบรมกษัตริย์ก็ตรัสสั่งให้เสวกามาตย์สร้างปราสาทผึ้ง แล้วเสนามาตย์ก็จัดแจงสร้างตามรับสั่งเสร็จแล้ว สมเด็จพระเจ้าปัสเสนทิโกศลราชบพิตรก็เอานักสนม นางกำนัลในบรรพษัททั้งหลาย มีพราหมณ์คหบดีเป็นต้นก็แห่แวดล้อมปราสาทดอกผึ้งเสด็จออกไปจากกรุงสาวัตถี ณ เวลาเช้าไปสู่บุพพารามวิหาร อันเป็นสำนักองค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาค ถวายบูชาธุปประทีปดอกไม้คันธะรสของหอมแล้ว ก็ถวายมธุปุปผํปาสาทํยังปราสาทดอกผึ้ง แล้วก็สถิตอยู่ในที่ควรข้างหนึ่งแล้วจึงกราบทูลว่าภนฺเต ภควาข้าแต่พระพุทธอันประเสริฐ อุดมด้วยพระบวรสมันตญาณพระพุทธเจ้าข้า บุคคลผู้มีศรัทธามาก่อสร้างมธุปปฺผํปาสาทํยังปราสาทดอกผึ้ง ให้เป็นทานจะมีอานิสงส์ดั่งลือพระพุทธเจ้าข้า  ครั้งนั้นองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสพระสัทธรรมเทศนาว่า ดูกรมหาบพิตรราชสมภาร
บุคคลผู้มีศรัทธามาก่อสร้างมธุปปฺผังให้ทานก็จะได้อานิสงส์ 8 กัล์ป ท่านจะได้สำเร็จวิบูลย์สุขสมบัติไพศาล อันจะเป็นประจักษ์ในปัจจุบันนี้ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักแก่คนทั้งหลาย เป็นผู้มีมิตรสหายมากกิตติศัพท์ความสรรเสริญลือกระฉ่อนไปทั่วทิศานุทิศกล้าหาญในสมาคมไม่ครั่นคร้าม ผู้นั้นประกอบไปด้วยปัญญามีสติสัมปชัญญะ ไม่ฟั่นเฟือนเมื่อสิ้นชีพแล้วจะได้ไปอุบัติสุคติบนสวรรค์ ท่านย่อมมีผลทั้งในภพนี้ และภพหน้านำกุศลสมบัติให้มีโภคะบริบูรณ์เป็นที่พึ่งของปวงสัตว์ผู้เข้าไปสำนักของท่านก็บริบูรณ์ เพราะอานิสงส์ที่ถวายปราสาทดอกผึ้งนั้นและโดยมีเหตุอ้างอยู่ในเมื่อครั้งศาสนาของพระพุทธเจ้านามว่าวิปัสสีกุฎมพีผู้หนึ่ง ได้ถวายปราสาทผึ้งแก่พระพุทธเจ้าวิปัสสีแล้วจึงตั้งปณิธาน ความปรารภ
ว่าให้ข้าพเจ้าได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งเถิด ครั้นสิ้นชีพแล้วก็ได้ไปอุบัติขึ้นบนสวรรค์ ในชั้นดาวดึงส์ มีวิมานสูงได้ 12 โยชน์ มีนางฟ้าเทพอัปสรกัลป์หมื่นหนึ่ง ครั้นจุติจากชั้นฟ้าที่นั้นแล้วก็ได้มาอุบัติในสาคคะยา พราหมณ์มหาศาลผู้มีข้าวของถึง 80 โกฏิ ทรงพระนามว่าคะวัมปัตติกุมาร ครั้นเจริญใหญ่ขึ้นมาบิดาก็ได้อภิเษก แล้วมอบทรัพย์สมบัติให้ครอง ครั้นถึงสมัยพระบรมศาสดาจารย์ของเรา ออกไปบรรพชา ท่านก็ออกไปบรรพชาด้วยเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งศาสนาพุทธเจ้าของเรา ด้วยอานิสงส์ท่านได้สร้างมธุปุปฺผังปาสาทดอกผึ้งให้เป็นทานนั้นแล

วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

คำกลอนวันแม่แห่งชาติ

กลอนวันแม่แห่งชาติ 
โอ้ละเห่-ฟูมฟักด้วยรักเจ้า
เมื่อยามเยาว์แม่ถนอมกล่อมจอมขวัญ
เอื้ออาทร-ร้อนร้าย แม่คลายพลัน
ภัยกางกั้นแม่กล้าฟันฝ่าไป

หวังเพียงแค่ คนดีที่แม่รัก
จะมีหลักอนาคตที่สดใส
ยอมลำบากยากเย็นทุกข์เข็ญใจ
ด้วยสายใยรักแน่น ไม่แคลนคลอน
แม่จ๋าล้านความรักจากใครเขา
หลอมรวมเข้าอาจแกร่งยิ่งดั่งสิงขร
แต่… “รักหญิงที่ขนานนาม มารดร
แกร่งแน่นอน..กว่าสิ่งใดในโลกา

แม่จ๋าแม่คือหญิงที่ยิ่งใหญ่
เหนือเทพไท้ ทั้งสามภพจบทั่วหล้า
พระคุณล้นเกินรำพันจำนรรจา
พรรณนาเทียบได้ไม่เพียงพอ

จะหาทิพย์จากสวรรค์ ณ ชั้นสรวง
กรองเป็นพวงแทนพลอยทำสร้อยศอ
หรือหยิบดาวพราวฟ้ามาทักทอ
แทนป่านปอ….เป็นของขวัญนั้นด้อยไป

โอ้ละเห่..ที่ฟูมฟัก ลูกรักแม่
สัญญาแน่..เป็นคนดีมิเผลอไผล
เพื่อทดแทนคุณความรักจากดวงใจ
กราบด้วย มาลัยอักษราบูชาเอย

กลิ่นความรักหอมนวลอวลไออุ่น
มือละมุนเนียนนุ่มอุ้มโอบขวัญ
ทะนุถนอมตระกรองกอดยอดชีวัน
ประครองป้องผองภยันอันตราย

กี่สิบถ้อยร้อยคำรำพันพรอด
ที่ถ่ายทอด คำรักหลากความหมาย
กี่เปรียบเปรยสรรหามาบรรยาย
ฤาเทียบสายใยรักจากมารดา

ครั้งที่ลูกยังเป็นเด็ก เล็กเล็กอยู่
แม่คือ ครูสอนอ่านเขียนเรียนภาษา
ให้คำเตือนเสมือนแสงแห่งปัญญา
ให้วิชาคือ รู้คิดที่ติดตน

ยามลูกเหนื่อยอนาทรแสนอ่อนล้า
ต้องการคำปรึกษาหาเหตุผล
แล้วหันมองรอบกายคล้ายมืดมน
ยังพบคนหนึ่งคือแม่คอยแลมอง

แม่จ๋าแม่คือยอดสตรีที่ประเสริฐ
แม่เลอเลิศหนึ่งในใจไม่เป็นสอง
แม่สูงค่ากว่าหยาดเพชรเกร็ดสีทอง
เกินยกย่องด้วยล้านคำพร่ำพรรณนา

หอมกลิ่นความรักนวลอวลไออุ่น
ระลึกคุณ แม่โอบอุ้มคุ้มเกศา
มือของลูกจึงเรียงร้อยถ้อยวาจา
เป็นมาลาหอม รักกราบจากใจ

กรองวจีเรียงถ้อยร้อยความรัก
บรรจงถักคำหวานผ่านอักษร
แทนมาลามะลิสวยด้วยบทกลอน
กราบ มารดรด้วยรักมั่น กตัญญุตา

หากค้นหาความรักจากทุกภพ
หลอมบรรจบเป็นรักที่มากค่า
รักของแม่แม้ล้านคำพร่ำพรรณนา
มิอาจหาเปรยเปรียบเทียบทดแทน

ลูกกี่คน… “แม่เลี้ยง-รักไม่พัก-ผ่อน
ถึงเดือดร้อนเหนื่อยยากลำบากแสน
ให้ลูกอิ่มแม้อัตคัดจนขาดแคลน
จะแร้นแค้นซูบเพียงกายรักไม่จาง

ชีวิตลูกที่ดำเนินเดินถูกต้อง
เพราะแม่ประคับประคองไม่เหินห่าง
ยามลูกเดินหลงทิศผิดเส้นทาง
แม่คือเทียนส่องสว่างกลางดวงใจ

แม่จ๋าแม่พร่ำสอนคือพรประเสริฐ
เป็น พรเลิศผ่องพิสุทธิ์ดุจแก้วใส
ด้วยไม่มีเคลือบแคลงแฝงเภทภัย
ลูกจดจำรำลึกไว้ใช้เตือนตน

กรองวจีเรียงถ้อยร้อยความรัก
บรรจงถักเป็นสร้อยคำ”…ที่งามล้น
สื่ออักษรกลอน รักจากกมล
บูชา แม่”…”หญิงยอดคน”…หนึ่งในใจ

มะลิหอมน้อมวางข้างข้างตัก
กรุ่นกลิ่น รักบริสุทธิ์ผุดผ่องใส
แทนทุกคำทุกถ้อยร้อยจากใจ
เป็นมาลัย กราบแม่พร้อมน้อมบูชา

กี่พระคุณจากใครอื่นนับหมื่นแสน
อาจทนแทนเปรยเปรียบเทียบคุณค่า
แต่พระคุณหนึ่งหยดน้ำนมมารดา
ทั้งสามภพจบหล้าหาเทียมทัน

ลูกไม่อาจเอ่ยแสดงแถลงถ้อย
หรือเรียงร้อยพจนามาเสกสรรค์
เพื่อบรรยายพระคุณนี้ที่ อนันต์
จึงตั้งมั่น กตัญญุตาตลอดไป

หนึ่งคำ รักลูกรักแม่ แม้ค่าน้อย
ต่างเพชรพลอย ตีราคาค่ามิได้
แต่แม่จ๋า… “รักที่หนึ่งของหัวใจ
มิใช่ใคร ลูก รัก แม่แน่นิรันดร์

กลอนวันแม่..
พระคุณแม่ยิ่งใหญ่หาใดเทียบ
มิอาจเปรียบแม้ภูผาชลาสินธุ์
น้ำนมที่กลั่นให้ลูกได้ดื่มกิน
ลูกถวิลถึงคุณค่าว่าอนันต์
แม่เหน็ดเหนื่อยเริ่มแต่แม่ตั้งท้อง
เฝ้าประคองทั้งดวงใจไม่เหหัน
ทำทุกอย่างเพื่อลูกยาสารพัน
แม้คืนวันผันผ่านนานนับปี
ตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่ได้เรียนรู้
แม่เฝ้าดูอยู่ข้างกายไม่หน่ายหนี
อยากเห็นลูกสุขสบายในชีวี
เป็นคนดีที่สังคมนั้นชมเชย
เหงื่อท่วมกายไม่เคยท้อแม้อ่อนล้า
หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินแม่เมินเฉย
ลูกซาบซึ้งในบุญคุณมิลืมเลย
ขอชดเชยแทนทดจนหมดใจ…..

วันแม่มาถึง
คำนึงพระคุณ
ส่งเรียนเกื้อหนุน
พระคุณใหญ่หลวง

ใครกันหนอรักเราเท่าชีวิต
ไม่ปกปิดบอกได้เลยว่าแม่ฉัน
ใครกันหนอรักเราทุกคืนวัน
ก็แม่ฉันอีกนั่นแหละมิเสื่อมคลาย

พระคุณแม่รีมิก
2 มือนั้น  ประกบลง  พนมไหว้
ด้วยหัวใจ  ที่คงรัก  แม่เสมอ
แม่เจ็บช้ำ  เศร้าใจ  นอนละเมอ
ลูกพร่ำเพ้อ  แค่ไหน  แม่เตือนเอา
ครบกำหนด  ลูกเกิด  วันแม่เจ็บ
แม่ทนเก็บ  ความเศร้า  ลูกสมหวัง
ลูกผิดพลาด  ทุกอย่าง  แม่รับฟัง
ลูกสมหวัง  แม่มีสุข  หมดทุกข์ใจ
เวลาผ่าน  ล่วงเลย  แม่แก่เฒ่า
แล้วใครเล่า  จะดูแล  แม่คืนมั่ง
ไม่ใช่เรา  แล้วคนไหน  จะมาทำ
คิดจดจำ  ทบทวน  ที่ผ่านมา
ถึงเวลา  ลูกตอบแทน  พระคุณแม่
ไม่ใช่แค่  ดูแล  และห่วงหา
ยังไม่สาย  ที่จะกลับ  กอดมารดา
ตอบแทนค่า  น้ำนม  ก้มกราบเอย

กลอนวันแม่ 12 สิงหาคม
มาลัยอักษราบูชาแม่
อุ่นไอรักจากแม่
แม่หญิงยอดคน
ของขวัญจากลูก
พระคุณแม่

คาถาป้องกันตัว

คาถากันงู
ปัญหา เวลาเราเดินทางในป่า หรือเดินทางในยามค่ำคืน
จะทำอย่างไรจึงจะไม่ถูกงูกัด ? พุทธดำรัสตอบ (ภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัดตาย มีคนไปกราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสว่า) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นชะรอยจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตไปยังสกุลพญางูทั้ง ๔ เป็นแน่ ถ้าเธอพึงแผ่เมตตาจิตไปยังสกุลพญางูทั้ง ๔ ไซร้ เธอก็ไม่พึงถูกงูกัด กาละ (ตาย) ตระกูลพญางูทั้ง ๔ คือตระกูลพญางูชื่อวิรูปักข์ ๑ ตระกูลพญางูชื่อเอราปถะ ๑ ตระกูลพญางูชื่อฉัพยาปุตตะ ๑ ตระกูลพญางูชื่อกัณหาโคตมกะ ๑ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุแผ่เมตตาจิตไปยังตระกูลพญางู ทั้ง ๔ จำพวกนี้เพื่อคุ้มครองตน เพื่อรักษาตน เพื่อป้องกันตน
อหิสูตร จ. อํ. (๖๗)
ตบ. ๒๑ : ๙๔ ตท. ๒๑ : ๘๓-๘๔
ตอ. G.S. II : ๘๑-๘๒

วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
วันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวัน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ถ้าปีใด มี เดือน 8 สองหน ( อธิกมาส ) ก็เลือนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7
ความสำคัญ 
วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญเกี่ยวกับประวัติพระพุทธเจ้า คือ เป็นวันคล้าย วันประสูติ เมื่อวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช
 80 ปี วันตรัสรู้ เมื่อวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี และ วันปรินิ พาน เมื่อวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 1 เหตุการณ์ทั้ง 3 นี้
 เกิดขึ้น ตรงในวัน และเดือนเดียวกัน เป็นที่มหัศจรรย์ยิ่งนัก เหตุการณ์ นี้ก่อให้เกิดพระพุทธศาสนา จากความสำคัญ ในวันที่
 15 ธ.ค42 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญครั้งที่ 54 ได้มีมติประกาศรับรองให้วันวิสาขบูชาเป็น
 วันสำคัญสากล 


 การจัดพิธีวิสาขบูชา 
เพื่อให้พุทธศาสนิกชนระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า ได้แก่ พระวิสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ พระมหากรุณาคุณ
 ซึ่งพระองค์เป็นศาสดาเอกและอำนวยประโยชน์แก่ชาวโลก

 การปฏิบัติตน
 1. ทำบุญตกบาตรพระสงฆ์ หรือนำภัตตาหารไปถวายพระสงฆ์ที่วัด เสร็จแล้วกรวดน้ำแผ่ส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
 2. ฟังธรรม รักษาศีล 5 หรือ ศีลอุโบสถ ( ศีล 8 ) เจริญสมาธิ แผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์
 3. นำดอกไม้ ธูปเทียน ไปเวียนเทียนที่วัด หรือ ศาสนาสถานอื่นๆ
 ข้อสังเกต
 วันวิสาขบูชา นี้บางท่านถือว่า เป็น วันพระพุทธเจ้า
 หลักธรรมที่เกี่ยวเนื่อง
 อิทธิบาท 4 คือ หนทางแห่งความสำเร็จ หรือหลักธรรมที่ปฏิบัติให้ถึงความสำเร็จมี 4 ประการ คือ
 1. ฉันทะ คือ ความชอบหรือความพอใจที่จะทำสิ่งนั้น
 2. วิริยะ คือ ความเพียรพยายามทำสิ่งนั้นอย่างต่อเนื่อง
 3. จิตตะ คือ ความสนใจ เอาใจใส่ และจดจ่อกับสิ่งที่ทำ
 4. วิมังสา คือ ความพิจารณาใคร่ครวญ ไตรตรองหาเหตุผลในสิ่งที่ทำ
 อิทธิบาท 4 นี้กล่าวสั่นๆ จำง่ายๆ ก็คือ มีใจรัก พากเพียรทำ เอาจิต ใจฝักใฝ่ ใช้ปัญญาตรวจสอบ
วันมาฆบูชา  วันมาฆบูชา หมายถึง การบูชาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ถ้าเดือนใดมีเดือน 8 สองหน ก็เลือนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4
 ความสำคัญ
 
วันมาฆบูชา เป็นสำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงประชุม ครั้งใหญ่ครั้งแรกในพุทธศาสนา  วัดเวฬุวันมหาวิหาร เรียกว่า มหาสาวก
 สันนิบาต ในการประชุมครั้งนี้มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ ที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต คือ
 1. วันนั้นเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3
 2. มีพระสาวกเข้าประชุมโดยมิได้นัดหมาย จำนวน 1,250 รูป
 3. พระสาวกล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
 4. พระอรหันต์สาวกที่เข้าร่วมประชุมทุกรูปเป็นผู้ได้รับอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง  
 
ในวันมาฆบูชา พระพุทธเจ้าทรงประกาศตั้งหลักการของพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระสาวกถือเป็น หลักปฏิบัติในการสั่ง
 สอนประชาชนสืบไป คือ ได้ทรง แสดง โอวาทปาติโมกข์ ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับการไม่ทำความชั่วทั้งหลาย ทำความดีให้พร้อม และทำจิตใจของตนให้บริสุทธิ์
 การจัดพิธีมาฆบูชา
 เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ระลึกถึงการประชุมครั้งใหญ่ของพระสงฆ์ หลักคำสอนที่เป็นหลักการของพระพุทธศาสนา รวมทั้ง
 การปลงอายุสังขารของพระพุทธเจ้า ให้เกิดความสังเวชสลดใจ
 การปฏิบัติตน
 1. ทำบุญตกบาตรพระสงฆ์ หรือนำภัตตาหารไปถวายพระสงฆ์ที่วัด เสร็จแล้วกรวดน้ำแผ่ส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
 2. ฟังธรรม รักษาศีล 5 หรือ ศีลอุโบสถ ( ศีล 8 ) เจริญสมาธิ แผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์
 3. นำดอกไม้ ธูปเทียน ไปเวียนเทียนที่วัด หรือ ศาสนาสถานอื่นๆ
  ข้อสังเกต
 วันมาฆบูชา บางท่านถือว่าเป็น วันพระธรรม
 หลักธรรมที่เกี่ยวเนื่อง
 หลักธรรมที่เกี่ยงเนื่องในวันมาฆบูชาที่นักเรียนควรศึกษาในที่นี้ คือ กิริยาวัตถุ 3
 กิริยาวัตถุ 3
 กิริยาวัตถุ 3 หมายถึง วิธีทำความดี ตามหลักพระพุทธศาสนามีวิธีทำความดีหลายวิธี ในที่นี้จะกล่าวเพียง 3 วิธี
 1. การให้ทาน ( ทานมัย ) หมายถึง การทำความดีด้วยการให้ ซึ่งมีทั้งการให้วัตถุสิ่งของ เช่น เงิน ทอง อาหาร เป็นต้น ที่เรียกว่า
 วัตถุทาน การให้สิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น วิชาความรู้คำปรึกษาแนะนำ เป็นต้น ที่เรียกว่า ธรรมทาน และการให้อภัย เช่น  การให้อภัยเมื่อคนอื่นทำผิดต่อเรา ที่เรียกว่า อภัยทาน
 2. การรักษาศีล ( สีลมัย ) หมายถึงการทำความดี ด้วยการปฏิบัติดีงาม ประพฤติปฏิบัติถูกทำนองคลองธรรม ไม่ล่วงละเมิด
 ข้อบัญญัติทางศาสนาขึ้นเพื่อความสงบสุขเพื่อความสงบสุขของสังคม เช่น ศีล 5 ศีล 8
  3. การเจริญภาวนา ( ภาวนามัย ) การทำความดีเพื่อฝึกอบรมจิต ใจให้มีความสุข และสร้างคุณงามความดีต่างๆ ที่ยังไม่มีในตัวเอง
 ให้เกิดขึ้นในตน รวมทั้งการพัฒนาความสุข ที่มีอยู่แล้วในตัวเองให้มีเพิ่มมากขึ้น เช่น เดิมเป็นคนไม่ค่อยเชื่อฟัง พ่อ แม่  ก็ปรับปรุงตัว โดยการเชื่อฟังคำสั่งสอยของพ่อแม่
วันอาสาฬหบูชา
  วันอาสาฬหบูชา หมายถึง การบูชา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ถ้าปีใด มีเดือน 8 สองหน ก็เลือนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หลัง
 ความสำคัญ
 
วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญที่พระพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมเป็นครั้งแรก เรียกว่า ปฐมเทศนา ธรรมที่ทรงแสดงชื่อ
 ธัมมจักกัปปวัตนสูตร โดยแสดงโปรดปัญจวัคคีย์ ณ ป่า อิสิปตนมฤคทายวัน ทำให้มีพระสาวกองค์แรกเกิดขึ้นในโลก ได้แก่  พระโกณฑัญญะ และทำให้มีพระรัตนตรัยครบองค์ 3 ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
 การจัดพิธีอาสาฬหบูชา
 เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมเทศนาครั้งแรก ทำให้เกิดพระอริยสงฆ์องค์แรกของโลก  และวันที่พระรัตนตรัยครบองค์ 3
 การปฏิบัติตน
 1. ทำบุญตกบาตรพระสงฆ์ หรือนำภัตตาหารไปถวายพระสงฆ์ที่วัด เสร็จแล้วกรวดน้ำแผ่ส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
 2. ฟังธรรม รักษาศีล 5 หรือ ศีลอุโบสถ ( ศีล 8 ) เจริญสมาธิ แผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์
 3. นำดอกไม้ ธูปเทียน ไปเวียนเทียนที่วัด หรือ ศาสนาสถานอื่นๆ
 ข้อสังเกต                               
 วันอาสาฬหบูชา บางท่านถือว่าเป็น วันพระสงฆ์
  หลักธรรมที่เกี่ยวเนื่อง
 หลักธรรมที่เกี่ยงเนื่องในวันอาสาฬหบูชาที่นักเรียนควรศึกษาในที่นี้ คือ จักร 4
 จักร 4
  จักร หมายถึง ธรรมที่เปรียบเสมือนล้อรถนำชีวิตไปสู้ความเจริญรุ่งเรือง เรียกว่า ธรรมจักร มี 4 ประการ คือ
 1. การอยู่ในห้องถิ่นที่เหมาะสม ( ปฏิรูปเทสวาสะ ) ได้แก่ การอยู่ร่วมกับคนดีและการอยู่ในที่เจริญ การอยู่ร่วมกันคนดี จะทำ ให้เห็นส่งทีดี ได้รับความรู้ดี จะส่งผลให้เราเป็นคนดี  ส่วนการอยู่ในที่เจริญ ช่วยให้เราได้รับความสะดวกสบาย และโอกาสที่จะ                             ได้ทำความดีมีมาก
 2การคบคนดี สัปปุริสุปัสสยะ) ได้แก่ การคบคนที่มีความรู้และความประพฤติดี คนดีย่อมแนะนำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่ ถูกต้อง ไม่แนะนำทางเสื่อมเสียแก่เรา อีกทั้งความประพฤติส่วนตัวของคนดี ก็ไม่เสียหาย ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน แก่คนที่ คบหาและคนข้างเคียง
 3. การตั้งตนไว้ชอบ อัตตสัมมาปณิธิ ) หมายถึง การดำรงตนตั้งมั่นอยู่ในคุณงามความดี เป็นผู้มีศีลธรรมจริยธรรมที่ดีงาม
 อีกนัยหนึ่งหมายถึง การมีจิตตั่งมั่นในคุณงามความดี และศีลธรรมจริยธรรม
4. ความเป็นผู้ทำความดีไว้ก่อน ปุพเพกตปุญญตา ) หมายถึง การทำความดีให้พร้อมไว้ก่อนแล้ว การทำความดี
 ในขณะนี้จะเป็น พื้นฐานความดีของสิ่งที่จะเกิดในอนาคต ดังนั้น ผู้ที่ทำความดีให้พร้อมไว้ก่อนจึงได้มีชื่อว่าเป็นผู้มีความพร้อม
  วันอัฏฐมีบูชา   
 วันอัฏฐมีบูชา หมายถึง การบูชาในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6
 ความสำคัญ
 
วันอัฏฐมีถือเป็นวันที่ตรงกับวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ  เมืองกุสินารา เมืองหลวงของแคว้นมัลละ
 เป็นวันที่ชาวพุทธ ต้องวิปโยคและสูญเสียพระบรมศาสดา
 การจัดพิธีวันอัฏฐมีบูชา เพื่อให้ชาวพุทธศาสนิกชนไก้พร้อมใจกัน ประกอบพิธีการบูชาระลึกถึงพุทธคุณ
 ปัจจุบันการจัดพิธีอัฏฐมีบูชากระทำกันเฉพาะบางวัดเท่านั้น เช่น วัดพระบรมธาตุ จ. อุตรดิตถ์เป็นต้น
 การปฏิบัติตน
 เหมือนวันมาฆบูชาและวันวิสาขบูชา แต่ไม่มีการเวียนเทียนเท่านั้น
 หลักธรรมที่เกี่ยวเนื่อง
 หลักธรรมที่เกี่ยงเนื่องในวันอัฏฐมีบูชาที่นักเรียนควรศึกษาในที่นี้ คือ สุจริต 3
 สุจริต 3
 สุจริต 3   หมายถึง ความประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ซึ่งส่งผลให้ผู้กระทำประสบแต่ความสงบสุข สุจริตแสดงออกได้ 3 ทาง คือ
 1. ทางกาย เรียกว่า กายสุจริต หมายถึง ความประพฤติดีที่แสดงออกทางกาย ได้แก่ การเว้นจากการฆ่าสัตว์
 2. ทางวาจา เรียกว่า วจีสุจริต หมายถึง ความประพฤติที่เกิดทางวาจา ได้แก่ การเว้นจากการพูดโกหก การเว้นจากการพูดส่อเสียด
 3. ทางใจ เรียก ว่า มโนสุจริต หมายถึง ความประพฤติดีทีเกิดทางใจ ได้แก่ การไม่เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น และเห็นถูกต้อง
 ตามธรรมนองคลองธรรม
  วันธรรมสวนะ
 วันธรรมสวนะ หมายถึง วันที่ชาวพุทธเข้าวัดทำบุญตักบาตร รักษาศีล เจริญภาวนา และฟังธรรมเทศนา เรียกกันในปัจจุบันว่า 
 วันพระ หรือ วันอุโบสถ ในประเทศไทยเดือนหนึ่งกำหนดให้มีวันพระไว้ 4 วัน คือ วันขึ้น 8 ค่ำ วันขึ้น15 ค่ำ วันแรม 8 ค่ำ
 วันแรม 15 ค่ำ ( หรือ 14 ค่ำในบางเดือน )
 ความสำคัญ
 
วันพระ หรือวันอุโบสถ เป็นวันหลักแห่งการทำความดี โดยพระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตให้ชาวพุทธมีโอกาสทำความดีต่างๆ
 ได้แก่ ทำบุญตักบาตร ให้ทาน เพื่อทำใจให้สงบ
 การปฏิบัติตน
 1. ทำบุญตักบาตร ให้ทานอื่นๆ เช่น ถวายสังฆทาน
 2. สมาทานศีล และรักษาศีล เช่น ศีล 8 หรือ ศีล 5
 3. เจริญภาวนาด้วยการทำจิตใจให้สงบเป็นสมาธิ
  4. ฟังธรรมเทศนาด้วยความตั้งใจและความสงบ
   หลักธรรมที่เกี่ยวเนื่อง
 หลักธรรมที่เกี่ยงเนื่องในวันพระ หรือ วันอุโบสถที่นักเรียนควรศึกษาในที่นี้ คือ สังคหวัตถุ 4
 สังคหวัตถุ 4
 สังคหวัตถุ 4 หมายถึง หลักปฏิบัติตนที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจผู้อื่นไว้ หรือหลักในการสงเคราะห์ผู้อื่น มี 4 ประการ คือ
 1. การให้ ทาน ) หมายถึง การรู้จักการช่วยเหลือ แบ่งปันไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นวัตถุสิ่งของ วิชาความรู้ต่างๆ หรือแม้กระทั่งการให้อภัยแม้ผู้อื่นทำความผิดต่อเราหรือทำให้เราเดือดร้อน
 2. การพูดจาไพเราะ ( ปิยวาจา ) หมายถึง การพูดไพเราะ น่ารัก พูดด้วยความจริงใจ
 3. การทำประโยชน์ต่อกัน ( อัตถจริยา ) หมายถึง การประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์ต่อกัน
 4. การาวงตัวเสมอต้นเสมอปลาย ( สมานัตตตา ) หมายถึง การทำตัวให้เข้ากันได้กับผู้อื่น โดยไม่ถือตัว
  เทศกาลสำคัญ   
 เทศกาล   หมายถึง คราวสมัยที่กำหนดไว้เป็นประเพณีเพื่อทำบุญและ การรื่นเริง ในท้องถิ่น เช่น สงกรานต์เข้าพรรษา เป็นต้น
 จากความหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีเทศกาล สำหรับในชั้นนี้นักเรียนควรได้ศึกษาเทศกาลสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับ
 พระพุทธศาสนา ด้แก่ เทศกาลสงกรานต์              
 เทศกาลสงกรานต์
   เทศกกาลสงรานต์ ตรงกับวันที่ 13 , 14 และ 15 เมษายนของทุกปี
 ความสำคัญ
 เทศกาลสงกรานต์ถือเป็นเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ของไทย โดยวันที่ 13 เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ คือวันสิ้นปีเก่า วันที่ 14 เรียกว่า  วันเนาว์ คือ วันขึ้นปีใหม่ วันที่ 15 เรียกว่า วันเถลิงศก
 การปฏิบัติตน
 เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะวันที่ 13 ซึ่งเป็นวันมหาสงกรานต์จะมีกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
 1. ตอนเช้ามีการทำบุญตักบาตร เพื่อคาวามเป็นสิริมงคล และความมีโชคในวันปีใหม่
 2. หลังจากพระฉันภัตตาหารแล้ว จะมีการพิธีบังสุกุลอัฐิบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งพระสงฆ์จะทำพิธีสวดมาติกาบังสุกุล
 3. ช่วงบ่ายทำพิธีสรงน้ำพระ บางที่จะทำพิธีสรงน้ำพระในวันสุดท้ายของวันสงกรานต์
 4. นอกจากสรงน้ำพระเสร็จแล้ว จะมีการรดน้ำผู้ใหญ่และคนที่ตนนับถือ เพื่อให้ผู้ใหญ่ให้พร
 ปัจจุบันทางราชการได้ประกาศให้วันที่ 13 – 15 เมษายน ซึ่งเป็นวันสงกรานต์ เป็นวันหยุดราชการ และได้
 กำหนดให้ วันที่13 เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ และวันที่ 14 เป็นวันครอบครัว
 หลักธรรมและคติธรรมที่เกี่ยวเนื่องในเทศกาลสงกรานต์
 1. การทำพิธีบังสุกุลอัฐิบรรพบุรุษ สะท้อนให้เห็นถึงหลักธรรมเรื่องความกตัญญกตเวทีที่ลูกหลานมีต่อ บรรพบุรุษ ที่ล่วงลับไปแล้ว
 2. การรดน้ำญาติผู้ใหญ่และผู้ที่ตนเองนับถือ นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงหลักธรรมเรื่องความกตัญญกตเวที ยังสะท้อนให้เห็นถึง
 ความเคารพและการมีสัมมาคารวะต่อกันอีกด้วย สังคมไทยถือว่าการรู้จักเคารพผู้ที่ควรเคารพนั้นเป็นวัฒนธรรมไทยอย่างหนึ่ง
 ผู้ที่รู้จักเคารพผู้ที่ควรเคารพ เรียกว่า เป็นคนมีสัมมาคารวะ ซึ่งคนประเภทนี้ย่อมได้รับความยกย่องนับถือ และย่อมประสบความ
 สำเร็จในการทำงานร่วมกับผู้อื่น